“ไม่ควรทิ้งอะไรไว้ นอกจากรอยเท้า ไม่ควรเก็บอะไรไป นอกจากความทรงจำ” ยังคงเป็นคติที่นักเดินทางผู้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมควรยึดถือใส่ใจไว้เสมอ พักร่างน่ะพักได้ แต่อย่างไรต้องไม่ลืมใส่ใจโลกสวยๆ ใบนี้ด้วยเพื่อเก็บรักษาความงดงามไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมคุณต้องลงมือทำเดี๋ยวนี้เลย!

 

1.เข้าใจสักนิดพิชิตการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน!

 

ถ้านักท่องเที่ยวและชุมชนมีความเข้าใจในเรื่องอนุรักษ์อย่างถูกต้อง การทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืนไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป เพราะทั้งสองฝ่ายทั้งในฐานะเจ้าบ้านและผู้มาเยือนต่างมีส่วนในเรื่องนี้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สรุปสั้น ๆ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสามารถเกิดได้ทุกที่ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้

 

-เป็นการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่าและความเป็นเอกลักษณ์

-เป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายระบบนิเวศ

-เป็นการท่องเที่ยวที่ให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับธรรมชาติ และมรดกทางวัฒนธรรม

-เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวอย่างยืนยาว
-เป็นการท่องเที่ยวที่ให้ผลประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและคืนผลประโยชน์กลับสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น

 

ขณะที่นักท่องเที่ยวได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆชุมชนก็สามารถอยู่ได้เพราะเศรษฐกิจในชุมชนมีการเคลื่อนไหว ดังนั้นสมดุลนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายเข้าใจหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตรงกัน

 

 

2.สถานประกอบการสีเขียวเราต้องสนับสนุน

 

เพื่อสนับสนุนสถานประกอบการที่คำนึงถึงการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ ก่อนออกเดินทางไปยังสถานไหน ควรหาข้อมูลสักนิด โดยสถานประกอบการที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนั้นดูได้จากองค์ประกอบหลักๆ ดังนี้

 

1. ต้องมีคุณภาพ เน้นคุณภาพของ 3 ส่วนหลัก คือสิ่งแวดล้อม กิจกรรมนันทนาการ และคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

 

2. มีความเชื่อมโยงทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม สามารถผันมาเป็นประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยว

 

3. เป็นการท่องเที่ยวที่มีความสมดุล ระหว่างความต้องการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความต้องการของชุมชนท้องถิ่น และขีดความสามารถของทรัพยากร

 

4. ลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น และลดของเสีย เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างพอเพียงและสมดุล เพื่อเพิ่มคุณภาพของการท่องเที่ยว

 

5. รักษาและส่งเสริมความหลากหลายทางทรัพยากรธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ช่วยขยายฐานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในอนาคต

 

6. มุ่งประสานการพัฒนาการท่องเที่ยวเข้ากับกรอบแผนการพัฒนาแห่งชาติ เพื่อช่วยขยายศักยภาพการท่องเที่ยว

 

7. เป็นการท่องเที่ยวที่รองรับกิจกรรมในท้องถิ่น โดยคำนึงถึงราคาและพัฒนาคุณค่าของสิ่งแวดล้อมไว้

 

8. เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ในด้านการจัดการผลตอบแทนของประชาชนและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและการจัดการการท่องเที่ยว

 

9. การประสานความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ คนในท้องถิ่น องค์กรและสถาบันที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดข้อขัดแย้งและร่วมแก้ปัญหา

 

10. มีการฝึกอบรมบุคลากร โดยสอดแทรกแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการพัฒนาแบบยั่งยืนแก่บุคลากรท้องถิ่นทุก ๆ ระดับ

 

11. สื่อข้อมูลข่าวสารให้แก่นักท่องเที่ยว มุ่งสร้างความเข้าใจในการเคารพต่อธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

12. การวิจัยและติดตามผล เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และนำไปสู่แนวทางการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

 

 

3.ทำให้การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นกระแสหลัก


การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จะกลายเป็นเพียงคำพูดสวยๆ และไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่ได้รับการถ่ายทอดและเกิดการลงมือขึ้นจริงจากอดีตที่ใครหลายคนมักมองว่าการเที่ยวเชิงอนุรักษ์เป็นเพียงทางเลือกของคนบางกลุ่มเท่านั้น เช่น นักศึกษาจากชมรมต่าง ๆ , กลุ่มจิตอาสาอาสาสมัคร หรือกิจกรรมที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ  CSR (Corporate Social Responsibility)  ของหน่วยงานต่างๆ เราปรารถนาให้การท่องเที่ยวด้วยจิตสำนึกนี้เป็นสิ่งที่คนทั่วโลกมีส่วนร่วมกระทำด้วยกัน
ในฐานะนักเดินทาง เราสามารถบอกต่อ ชักชวน เพื่อนและคนรอบข้างให้หันมาเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์กันมากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการน้ำดีให้มีแรงใจ ยังคงสืบสานการดูแลชุมชนของเขาต่อไป และเมื่อคนในสังคมเริ่มมีการพูดถึงการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์นี้ด้วยการบอกต่อไปเป็นทอดๆ และขยายวงกว้างขึ้น จากคนกลุ่มเล็ก ๆ สู่สังคมใหญ่ๆ ก็จะทำให้การท่องเที่ยวแบบนี้ได้รับความนิยม และได้รับการยอมรับให้เป็นการท่องเที่ยวกระแสหลักในที่สุด

 

ในฐานะผู้ประกอบการและชุมชนควรจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทุกประเภทภายใต้การคำนึงถึงจริยธรรม ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ไม่ให้ผลตอบแทนด้วยตัวเงินมาเป็นสิ่งล่อใจให้หลงไปในทางที่ผิด และควรมุ่งมั่นในการทำดีต่อไปอย่างต่อเนื่อง คงคุณภาพและดุลยภาพของการใช้และการรักษา เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้จะคืนกลับสู่โลกใบเดิมใบนี้ ที่ทวีความน่าออกไปใช้ชีวิตได้มากขึ้น

 

 

————————————————————————————————————————————-
เอกสารอ้างอิง :

-บุญเลิศ  จิตตั้งวัฒนา.  2542. การวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน.  พิมพ์ครั้งที่ 1.

คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

– อุษาวดี   พลพิพัฒน์.  2545.  การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน :  กรณีศึกษาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน

ในประเทศไทย. จุลสารการท่องเที่ยว   21,4 ( ตุลาคม- ธันวาคม ): 38-48.