#โปรดมาเที่ยวที่บ้านของฉัน พูดคุยกับผู้ก่อตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง” จ.นครนายก
ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญของ 2 เจนฯ สู่การพัฒนาบ้านเกิดอย่างยั่งยืน

“โปรดมาเที่ยวที่บ้านของฉัน” บทสัมภาษณ์พิเศษที่จะพาทุกคนไปเรียนรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับตัวแทนผู้ประกอบการแต่ละจังหวัดที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนชุมชนและผลักดันการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยวันนี้ 7 Greens มีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘คุณชาติ’ ปิยะชาติ จันลา และ ‘คุณหมู’ ปิยะวัฒน์ จันลา ผู้ก่อตั้งและบริหาร ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง จ.นครนายก ถึงการผนึกกำลังความต่างของ 2 เจนฯ ต่อยอดจากความถนัดด้านการเกษตรของคุณชาติ และ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Science) ของคุณหมู จับมือร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจและบ้านเกิดอย่างลงตัว

Green Heart ใครอยากรู้ว่า ‘ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง’ เริ่มต้นจากอะไร ทำเพื่ออะไร ลองมาเรียนรู้ แลกเปลี่ยน สิ่งที่เป็นจุดกำเนิดของศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงกัน เผื่อจะเป็นไอเดียดี ๆ สำหรับผู้ที่อยากพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ หรือสถานที่ท่องเที่ยว ที่น่าสนใจ จะได้พูดได้แบบเต็มปากว่าของดีประจำจังหวัดที่คุณอยู่นั้น คือ ชุมชนของคุณนั่นเอง

จุดเริ่มต้นจาก ‘คุณชาติ’ ผู้ก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงใน Generation 1

คุณชาติ: ในปี 2559 ผมกับพี่น้องที่บ้านเขากะเหรี่ยงในฐานะที่เป็นชาวนา ชาวสวน เคยมีการพูดคุยกันถึงเรื่องผลผลิตที่ออกมาในแต่ละปี ทุกปี ๆ ก็มีราคาที่ต่ำลง จนถึงขั้นขาดทุน ทำให้ได้แต่นั่งเงียบ ๆ เหงา ๆ ที่บ้านเขากะเหรี่ยง เพราะมีพ่อค้าคนกลางแวะเวียนมาเพียงปีละ 1 – 2 คน

คิดว่าอยากลองทำอะไรสักอย่าง ให้มีคนมาหาเราที่หมู่บ้านเยอะ ๆ มาเที่ยวหรือมาทำอะไรก็ได้ สุดท้ายเกิดเป็นไอเดียว่าเราหันมาทำสถานที่ท่องเที่ยวดูไหม เริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน จึงปรับปรุงสวน ปรับปรุงนาของเรา ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

โดยมีเป้าหมายว่า เราอยากจะทำเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงเกษตร และวัฒนธรรม เพราะพวกเราทำนา ทำสวน กันมาตลอด รวมถึงเราเป็นคนลาวเวียงด้วย จึงอยากที่จะขายวัฒนธรรมของคนลาวเวียง เลยก่อตั้ง ‘ภูกะเหรี่ยง’ ขึ้นมา

มีวิธีการโปรโมตอย่างไร เพื่อให้ศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงเป็นที่รู้จัก

คุณชาติ: ในตอนแรกเราไม่ได้คิดเลยว่ามันจะเป็นยังไง เราเริ่มจากการทำสะพาน ตอนปี  2559 เป็นสะพานไม้ไผ่ พอเสร็จแล้วเพื่อนฝูงมาเยี่ยม ใช้ปากต่อปาก บอกต่อกันไป

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนชอบถ่ายภาพลง Facebook คนมันก็มา คนที่หนึ่งถ่าย คนที่สองถ่าย คนที่เห็นก็อยากถ่ายบ้าง เลยกลายเป็นว่าคนแห่มาถ่ายกันจนสะพานไม้ไผ่พัง พอเรารู้ว่ามีคนถ่ายรูปแชร์ลง Facebook คนเลยมากันเยอะ เราก็เลยได้ศึกษาตาม

เริ่มจากเล็ก ๆ สะพานไม้ไผ่ธรรมดา ที่เอาไม้ไผ่มาตัดแล้ววางเรียงกัน 25 เมตร จนปัจจุบันปรับปรุงมาเป็นสะพานสีฟ้ายาว 200 เมตร พาดไปในทุ่งนา
จากก้าวเล็ก ๆ ที่ได้พัฒนาเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนได้ลูกชายมาช่วยพัฒนาในวันนี้ ‘คุณชาติ’ รู้สึกอย่างไรบ้าง และในตอนนี้มีการแบ่งหน้าที่กันอย่างไร

คุณชาติ: มีความรู้สึกดีใจที่ลูกเขาคิดว่าสิ่งที่เราทำมันมีคุณค่า มันเป็นประโยชน์กับชีวิตเขา เขาเริ่มมาช่วยเราตั้งแต่ปี 2561 ในเรื่องทำระบบ ทำอะไรให้มันดีขึ้น และที่สำคัญเขาเองก็ร่วมมือกับชาวบ้าน อยู่กับชาวบ้าน ชุมชนได้ ซึ่งผมมองว่ามันสำคัญ
เพราะว่าการที่เราจะพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ มันต้องมีความเข้าใจในชุมชน คนในชุมชน ทำต่อเนื่อง และต้องใช้เวลา มันจะทำแค่ปุ๊บปั๊บแล้วให้มันสำเร็จเลยเป็นไปไม่ได้ สำหรับในตอนนี้ไม่ได้มีการแบ่งหน้าที่กัน ให้เขาเป็นคนทำ แล้วเราเป็นที่ปรึกษา เป็นผู้ช่วยให้กับเขา เขาติดอะไรก็บอกเรา เราไม่ชอบอะไร หรือมองว่าอะไรไม่เหมาะสม สุ่มเสี่ยงก็บอกเขา

หลังจากนี้ ‘คุณชาติ’ มีความคาดหวังว่าศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง ภายใต้การดูแลของ ‘คุณหมู’ อย่างไรบ้าง

คุณชาติ: อย่างที่บอกไปนะครับ ตั้งแต่วันแรกที่คิดจะทำ อยากทำเพื่อแก้ปัญหาที่ชาวนา ชาวสวน อย่างเราเผชิญกันอยู่ สิ่งที่ผมคิดว่าจะว่าวันนี้ หรือต่อจากนี้ ถ้าหากว่ามีคนที่เป็นชาวนา ชาวสวน ที่เขากำลังเผชิญปัญหาอยู่ได้มาดู มาเรียนรู้ ทั้งเรื่องการผลิต เรื่องของราคา หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่
หากเขาได้มาดูของเรา แล้วเขาได้เอาไปทำให้มันดีขึ้น แก้ปัญหาให้เขาได้ แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วครับ แล้วก็อยากให้ที่นี่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักผ่อนของคนทุก ๆ คนไม่ว่าจะคนใน จ. นครนายก หรือคนจังหวัดอื่น ๆ ความคาดหวังของผมกับศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงก็แค่นี้ครับ
หลัก ๆ ผมแค่อยากให้ชาวนา ชาวสวน พอที่จะลืมตาอ้าปากได้ สามารถที่พอจะพึ่งตัวเองได้ อย่างที่ผ่านมามีหลายครอบครัวที่มาทำงานร่วมกับเราแล้วทำให้เขามีรายได้แบบจับต้องได้ มี Know-How ที่เขาสามารถทำแล้วได้ประโยชน์จนสามารถกลับไปเลี้ยงครอบครัวได้
หรืออย่างที่ลูกชายผมทำเรื่องของพันธุ์ข้าว พัฒนาให้มีคุณภาพมากขึ้น จนตอนนี้ส่งไปเป็นพันธุ์ข้าวให้กับศูนย์พัฒนาพันธุ์ข้าว พอมันทำแล้วดีขึ้น ก็ให้คนในหมู่บ้านเริ่มทำกัน ทำให้เขาได้เงินมากขึ้น พอเราเห็นแล้วก็รู้สึกดีใจครับ

อยากให้ ‘คุณชาติ’ เชิญชวนทุกคนมาเที่ยว จ.นครนายก มาเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง
คุณชาติ: อยากจะเชิญชวนทุกคนเลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็นคนนครนายกเอง หรือคนต่างจังหวัด มาเที่ยวชม พักผ่อนกันที่ภูกะเหรี่ยง มาลอง มาหาซื้อสินค้าที่ผลิตเอง หรือมาทานอาหารที่ทำกันเองโดยชาวบ้านภูกะเหรี่ยง สัมผัสกับธรรมชาติแบบเดิม ๆ ธรรมชาติแบบดิบ ๆ ที่ไม่มีการปรุงแต่งกันครับ

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ ‘คุณหมู’ ตัดสินใจมาช่วยคุณพ่อดูแลศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง เป็นผู้ดูแลใน Generation ที่ 2

คุณหมู: ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยครับ ในตอนนั้นผมเองก็ทำงานประจำไปพร้อม ๆ กับที่คุณพ่อเริ่มพัฒนาพื้นที่ของคุณทวดที่เสียไปตรงนี้ แล้วในตอนนั้นผมเองก็เริ่มเห็นว่าคนแถว ๆ นี้เขาขายที่ดินกันเยอะ ทำให้รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อวันนึงเราได้เจอคุณทวดอีกครั้ง คุณทวดจะได้ดีใจที่ที่ดินที่คุณทวดมีนั้นลูก ๆ หลาน ๆ ดูแลต่อให้ท่านได้

จากสิ่งที่ได้เรียนมา มีอะไรบ้างที่นำมาปรับใช้ในการดูแล พัฒนาศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง

คุณหมู: ผมจบ Food Science มาครับ ถ้าการเกษตรเป็นเหมือนต้นน้ำ ผมก็คือเรียนกลางน้ำ ผมเรียนการแปรรูป คือเอาวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปอะไรได้บ้าง เช่น ผมได้มีการคิด และทำ ‘พุดดิ้งข้าวยาคู’ ทำน้ำต้นข้าว ทำเครื่องดื่ม ทำอาหาร ที่ใช้จำหน่ายภายในศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง ทำอย่างไรให้อาหารไม่ก่อเชื้อ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค อะไรแบบนี้มันต้องใช้ความรู้ทาง Food Science ครับ

จากการตัดสินใจทิ้งงานประจำ แล้วกลับมาดูแลศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงต่อจากคุณพ่อ ‘คุณหมู’ มีความประทับใจอะไรกับทางเลือกนี้บ้าง

คุณหมู: ผมรู้สึกดีใจที่ได้ทำเร็วกว่าคนอื่น เพราะหลาย ๆ คนมีความคิดที่ว่า เมื่ออายุเยอะขึ้น หลังจากเกษียณอยากกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในป่า ในสวน อะไรประมาณนี้ ซึ่งถ้าตามความจริงคนที่มีความคิดแบบนี้เขาจะต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ ตรงกันข้ามกับผมที่ตอนนี้เริ่มทำแล้ว


ในการดูแลและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง มีการทำงานกับชาวบ้านในชุมชน ‘คุณหมู’ ปรับตัวอย่างไร

คุณหมู: เราต้องปรับตัวเยอะเลยครับ เราต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหา แม้จะรู้จัก เคยเห็นกันมาก่อน แต่ไม่ค่อยได้พูดคุยกัน ความสนิทสนม ความเข้าใจกันมันยังไม่มากพอ ผมใช้เวลาถึง 6 ปี ในการสร้างเพื่อนขึ้นมาเลยครับ

คนทั่วไปมักคิดว่า คนที่จบป.ตรี ป.โท มักจะบอกว่าตัวเองถูก เพราะว่าเรียนมา แล้วบอกว่าชาวบ้านผิด ผู้ใหญ่พูดเราไม่เชื่อ เราไปพูดกับเขาว่าต้องทำแบบนี้ เขาก็ไม่เชื่อเราเหมือนกัน

ในความเป็นจริงแล้วผมพบว่าสิ่งที่เราเรียนมาคิดแต่ในมุมของผู้เขียนหนังสือ ไม่ได้เอามาเชื่อมโยงจริง ๆ เช่น การทำนา ขั้นตอนในแต่ละขั้นกระบวนการมันเป็นยังไง ทำไมต้องทำแบบนี้ ฟ้า ฝน ดิน อากาศ ไม่ได้บอกตอนเรียน แต่มารู้ตอนที่ลงมือทำจริง ๆ ผมใช้เวลา 6 ปี ในการทำความเข้าใจ และเอาวิทยาศาสตร์ที่เรารู้มาเติมเต็ม แล้วมันก็ประสบความสำเร็จ เข้าใจซึ่งกันและกันกับชาวบ้าน ช่วยกันพัฒนา ทำออกมาแล้วได้ผลผลิตที่มากขึ้น ดีขึ้น

หลังจากนี้ ‘คุณหมู’ มีความคาดหวัง อยากจะเห็นศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงพัฒนาไปในทิศทางไหน

คุณหมู: คิดแค่ว่าให้มันอยู่รอดต่อไปได้จนถึงรุ่นลูก รุ่นหลานผมครับ มันต้องมี Know-How ของตระกูลที่จะส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ผมมองว่าสังคมไทย คนมักจะทิ้งการทำเกษตรไปทำงานโรงงาน พอมันขาดช่วงรุ่นมันจะต่อยากครับ แต่ถ้าเราทำต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ นวัตกรรมต่าง ๆ ก็จะตามมา เกิดเป็นความยั่งยืน

การเข้ามาดูแลศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงถือได้ว่าเป็นธุรกิจครอบครัว ‘คุณหมู’ เคยมีความเห็นไม่ตรงกันกับคุณพ่อบ้างไหม

คุณหมู: ผมมองว่าเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกันมันเป็นเรื่องปกติเลยครับ แต่ไม่ใช่การขัดแย้งนะ เพราะเราคุยกันหมดในทุกเรื่อง ช่วยกันเสนอไอเดีย แต่บางทีก็อาจจะคนละไอเดีย ก็ต้องมาดูที่มุมมองว่ามุมไหนดีกว่ากัน ไม่ได้เออออห่อหมกตามกันทุกเรื่อง เราต้องคุยกันเพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด โดยต้องพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คุยกันด้วยเหตุและผล


อยากให้ ‘คุณหมู’ เชิญชวนทุกคนมาเที่ยว จ.นครนายก มาเที่ยวศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยง

คุณหมู: จริง ๆ แล้วศูนย์การเรียนรู้ภูกะเหรี่ยงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เหมาะกับกลุ่มครอบครัวมาก ๆ เลยครับ หากคุณพ่อคุณแม่ท่านไหนอยากให้ลูกได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตเกษตรกร หรืออยากพาผู้สูงอายุที่บ้านมาเที่ยวสัมผัสชีวิตเกษตรสมัยก่อน หรือแม้กระทั่งกลุ่มวัยรุ่นที่อยากท่องเที่ยวธรรมชาติ ที่ไม่ประดิษฐ์อะไรมากมาย สัมผัสวิถีชีวิตแบบบ้าน ๆ เรียนเชิญที่ภูกะเหรี่ยงนะครับผม

และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดของ Green Community ที่จุดประกายความยั่งยืนจากผู้ประกอบการ ผสานความร่วมมือกับคนในชุมชนบ่มเพาะจนเกิดสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชูเอกลักษณ์ ตลอดจนวิถีชีวิตการทำนาและการเกษตรของคนนครนายกได้เป็นอย่างดี สำหรับนักท่องเที่ยว ต้องไม่ลืมที่จะ #เที่ยวใส่ใจ ใส่ใจสถานที่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม  โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ตามชุมชน เพื่อรักษาให้สถานที่นั้น ๆ ยังคงกลิ่นอาย และความสวยงามแบบธรรมชาติ รวมถึงความมีเสน่ห์และความเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชนไว้