แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว

“ท่องเที่ยวทั่วทิศ เลือกแหล่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”แหล่งท่องเที่ยวที่มีการบริหารจัดการตามกรอบนโยบายและการดำเนินงานใน ทิศทางของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้ความระมัดระวังหรือ มีปณิธาน (Commitment) อย่างชัดเจนในการปกป้องรักษาสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างถูกวิธี ในฐานะของเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว การนำแนวคิด 7 Greens ไปใช้ในการบริการจัดการพื้นที่ท่องเที่ยวของตนเอง ก็คงต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของการบริการจัดการพื้นที่ โดยนำหลักการต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดการเคารพธรรมชาติ ฯลฯ เข้ามาใช้ให้มากขึ้น นอกเหนือจากการคำนึงถึงการสร้างจุดสนใจเพื่อดึงดูดจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้สำหรับภาคส่วนต่างๆคือ

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ

แนวปฏิบัติที่ 1 พัฒนาหรือปรับปรุงระบบการบริหารจัดการแหล่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการ

1. กำหนดนโยบาย มีปณิธาน และแผนงานที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการหลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปฏิบัติที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

2. เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย/อนุสัญญา/ข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎระเบียบในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. บุคลากรหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องได้รับการฝึกอบรมให้ความรู้ และทักษะในการปฏิบัติเกี่ยวกับ การจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และวิธีปฏิบัติที่หลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

4. มีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์แหล่งท่องเที่ยว ตามศักยภาพของทรัพยากรธรรมชาติ/ สิ่งแวดล้อม และคุณค่าประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว เช่น ใช้แนวคิดช่วงชั้นโอกาสทางการท่องเที่ยว (ROS) สำหรับแหล่งธรรมชาติ ใช้แนวคิดการแบ่งโซนทางประวัติศาสตร์สำหรับแหล่งโบราณสถาน เป็นต้น

5. การออกแบบ/ก่อสร้างอาคารและระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม โดยคำนึงถึงหลักการออกแบบ/ก่อสร้างที่ยั่งยืน (Sustainable design/construction) และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และคนพิการสามารถมาใช้ได้โดยสะดวกและปลอดภัยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

6. จัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยว/นันทนาการ ที่ให้ความเพลิดเพลิน/สนุกสนานและให้โอกาสในการเรียนรู้แก่นักท่องเที่ยวได้มากที่สุด โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นต้องสอดคล้องกับคุณค่าของทรัพยากรการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

7. มีการกำหนดขีดความสามารถรองรับได้ (carrying capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งในด้านจำนวน นักท่องเที่ยว (ต่อวัน ต่อเดือน หรือต่อปี) ความมากน้อยของสิ่งปลูกสร้าง และการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

8. สื่อที่ใช้ในการเผยแพร่/ประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด และต้องไม่สัญญาเสนอสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้แก่นักท่องเที่ยว โดยไม่สามารถกระทำได้จริง

9. กำหนดระเบียบหรือข้อควรปฏิบัติ การใช้พื้นที่สำหรับนักท่องเที่ยวโดยมีการแจ้ง หรือชี้แจง ให้นักท่องเที่ยวรับทราบในโอกาสแรกที่เดินทางมาถึง

10. มีข้อมูลและบริการการสื่อความหมาย (Interpretation) เกี่ยวกับพื้นที่คุณค่าของทรัพยากรท่องเที่ยว และองค์ประกอบของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญๆ ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งคำอธิบายขอความร่วมมือให้นักท่องเที่ยวปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเหมาะสมด้วย

11. มีการประเมิน/ตรวจวัด ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการแก้ไข/ปรับปรุงสิ่งที่จำเป็นตามความเหมาะสม

แนวปฏิบัติที่ 2 การปฏิบัติที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย

1. มีการป้องกัน ตรวจสอบ และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนา/ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งจากผู้ประกอบการนำเที่ยว กิจกรรม และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

2. ไม่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้า/ของที่ระลึกที่ทำจากทรัพยากรธรรมชาติที่หายาก หรือกำลังสูญพันธุ์หรือมีแนวโน้มลดน้อยลง เช่น เปลือกหอย ปะการัง กล้วยไม้ป่า เป็นต้น

3. ใช้ชนิดพันธุ์พืชท้องถิ่นในการตกแต่ง และฟื้นฟูภูมิทัศน์ พร้อมหลีกเลี่ยงการนำชนิดพันธุ์พืชต่างถิ่น (Alien Species) มาปลูกในพื้นที่ หรือนำสัตว์ต่างถิ่นมาปล่อยหรือเลี้ยงในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อนุรักษ์ประเภทอื่นๆ

4. การนำสัตว์ป่ามาใช้แสดงให้นักท่องเที่ยวชม (เช่น ช้าง นก โลมา ฯลฯ) จะต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง และการเลี้ยงดูสัตว์จะต้องให้เป็นไปตามระเบียบ หรือข้อกำหนดของทางราชการ

5. ไม่มีการกักขังสัตว์ป่า ยกเว้นกฎหมายจะอนุญาต และต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม สัตว์ป่าหวงห้ามหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง ควรมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเป็น ผู้ดูแลจัดการ

6. ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่อนุรักษ์ประเภทต่างๆและการดำเนินการใดๆ ต้องไม่เป็นการรบกวน หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศธรรมชาติน้อยที่สุด

7. ปลูกเสริมต้นไม้ท้องถิ่นในพื้นที่เพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศ สร้างความร่มรื่น และช่วยดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่เสื่อมโทรมสองข้างถนน และโซนบริการ

8. มีการจัดซื้อจัดจ้างที่เน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งวัสดุก่อสร้าง อาหาร สินค้าทุน และสิ่งอุปโภค-บริโภคต่าง ๆลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ หรือย่อยสลายยาก และสินค้าที่ใช้ครั้งเดียว แล้วทิ้งไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก

9. มีการตรวจวัดการใช้พลังงานทุกชนิด ทุกประเภท รู้แหล่งที่มาและมีมาตรการลดปริมาณการใช้พลังงานโดยรวมพร้อมทั้งใช้พลังงานทดแทน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ เป็นต้น

10. มีการตรวจวัดการใช้น้ำ รู้แหล่งที่มาและมีมาตรการลดปริมาณการใช้น้ำโดยรวม โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ที่มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำจืด ตัวอย่าง เช่น แหล่งท่องเที่ยว ตามชายฝั่ง ทะเล และเกาะ เป็นต้น

11. จัดให้มียานพาหนะขนส่งนักท่องเที่ยวที่ปลอดคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยที่สุด สำหรับใช้บริการแก่นักท่องเที่ยว เมื่อเดินทางเข้ามาถึงพื้นที่ เช่น มีบริการรถจักรยาน หรือระบบขนส่งมวลชนลักษณะอื่นๆ ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

12. มีการตรวจวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งที่มาต่างๆ ภายในพื้นที่ พร้อมทั้งมี กระบวนการ และวิธีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งต่างๆ เหล่านั้น

13. มีการบำบัดน้ำเสียและน้ำทิ้ง (waste water) อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานก่อนปล่อยลงลำห้วย แม่น้ำ หรือทะเล และหากกระทำได้ก็นำกลับมาใช้เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ล้างเรือ เป็นต้น

14. มีการจัดการของเสียและขยะ (solid waste) ตั้งแต่เรื่องการลดปริมาณของเสียและขยะ ให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะของเสียและขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ไปจนถึงการแยกขยะของเสียและการกำจัดขยะอย่างถูกวิธีและก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด

15. ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทุกชนิด ได้แก่ ยากำจัดวัชพืช สีทาบ้าน น้ำยาฆ่าเชื้อโรคในสระว่ายน้ำและน้ำยาทำความสะอาดให้เหลือน้อยที่สุด และพยายามทดแทนโดยการใช้สารที่ไม่มีพิษมีภัยต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

16. ลดมลภาวะทางเสียงและแสง มลภาวะอันเกิดจากน้ำไหลบ่าหน้าดิน การกัดชะพังทลายของดินการใช้สารประกอบที่ทำลายโอโซน และสารพิษตกค้างในอากาศและดิน

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

สำหรับชุมชนเจ้าของพื้นที่

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของชุมชนของแหล่งท่องเที่ยว

สำหรับผู้ประกอบการเรื่องที่พัก

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของผู้ประกอบการที่พัก

สำหรับเจ้าของธุรกิจนำเที่ยว

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว

สำหรับเจ้าของธุรกิจสปา

การสร้าง แหล่งท่องเที่ยวสีเขียว ในฐานะของผู้ประกอบการด้านสปา
ไม่พบเรื่อง