ศรีสัชนาลัยเป็นเมืองลูกหลวงที่สำคัญแห่งหนึ่งในช่วงต้นกรุงสุโขทัย ที่มักจะปรากฏชื่อควบคู่ไปกับเมืองหลวงในจารึกว่า “ศรีสัชนาลัย สุโขทัย” โดยปัจจัยหลักแห่งความรุ่งเรืองของเมืองศรีสัชนาลัยนั้น น่าจะมาจากอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสังคโลกในสมัยสุโขทัยและอยุธยาที่พัฒนาจากการผลิตเพื่อใช้ในชุมชนไปสู่การผลิตเพื่อส่งออกไปขายยังชุมชนภายนอก อันนำมาซึ่งรายได้ให้แก่รัฐเป็นจำนวนมาก และจากความสำคัญในเชิงเศรษฐกิจนี้เองที่ทำให้เมืองศรีสัชนาลัยได้รับการปกครองจากเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงในสมัยสุโขทัย ก่อนที่จะถูกยึดครองโดยรัฐต่างๆ ที่เข้มแข็งกว่าในเวลาต่อมา เช่น ล้านนา ที่เรียกเมืองนี้ว่า “เชียงชื่น” หรือกรุงศรีอยุธยาที่เรียกเมืองนี้ว่า “สวรรคโลก” แต่หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ ใน พ.ศ.๒๑๑๒ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องสังคโลกที่เมืองศรีสัชนาลัยก็ยุติลง ส่งผลให้เมืองศรีสัชนาลัยถูกลดฐานะลงเป็นเพียงหัวเมืองชั้นโท จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๓๑๐ เมืองศรีสัชนาลัยจึงถูกทิ้งร้างไปโดยสิ้นเชิง โดยผู้คนได้อพยพไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณบ้านวังไม้ขอน อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน
อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือ ๕๕๐ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตตำบลศรีสัชนาลัย ตำบลสารจิตร ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าชัย ส่วนตัวเมืองโบราณศรีสัชนาลัย อยู่ในเขตตำบล ศรีสัชนาลัย พื้นที่อุทยานทั้งหมดประมาณ ๔๕.๑๔ ตารางกิโลเมตร มีโบราณสถานที่สำรวจแล้วในขณะนี้ ๒๗๘ แห่ง โบราณสถานที่สำคัญและควรเที่ยวชมมีอาทิ วัดช้างล้อม วัดเจดีย์เจ็ดแถว วัดนางพญา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง กลุ่มเตาเผาสังคโลก เตาทุเรียงบ้านป่ายางและบ้านเกาะน้อย และแหล่งโบราณคดีวัดชมชื่น เป็นต้น
– วัดช้างล้อม ตั้งอยู่ภายในกำแพงเมืองเกือบกึ่งกลางตัวเมืองศรีสัชนาลัย บนที่ราบเชิงเขาด้านทิศใต้ของเขาพนมเพลิง โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงลังกา มีกำแพงแก้วสี่เหลี่ยมจัตุรัสล้อมรอบ ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีช้างปูนปั้นเต็มตัวประดับโดยรอบฐานทั้ง ๔ ด้าน รวม ๓๙ เชือก บริเวณองค์ระฆังขึ้นไปเป็นบัลลังก์ ก้านฉัตรซึ่งประดับด้วยรูปพระสาวกปูนปั้นลีลานูนต่ำจำนวน ๑๗ องค์
– วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดช้างล้อม โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานรูปดอกบัวตูมอยู่ด้านหลัง พระวิหาร และมีเจดีย์รายรวมทั้งอาคารขนาดเล็กแบบต่างๆ กัน ๓๓ องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง นอกกำแพงมีโบสถ์และบ่อน้ำ เดิมมีคูน้ำล้อมรอบเจดีย์รายที่วัดเจดีย์เจ็ดแถวมีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจากที่ต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ลังกาและพุกาม
– วัดนางพญา ตั้งอยู่ใกล้กับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้โบราณสถานที่สำคัญประกอบด้วยเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ที่ชั้นมาลัยเถาก่อซุ้มยื่นออกมาทั้งสี่ทิศ ซุ้มด้านหน้ามีบันไดทางขึ้นจนถึงภายในโถงเจดีย์ ตรงกลางโถง มีแกนเจดีย์ประดับด้วยลวดลายปูนปั้น วิหารก่อด้วยศิลาแลงมีมุขหน้าและมุขหลัง ผนังวิหารเจาะช่องแสง
– วัดเขาพนมเพลิง อยู่บนยอดเขาพนมเพลิงภายในกำแพงเมือง โบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง ตั้งแต่ก้านฉัตรขึ้นไปพังทลายหมด มณฑปก่อด้วยศิลาแลงฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสยกพื้นสูง หลังคาโค้งแหลม มีบันไดทางขึ้นสู่มณฑป ชาวบ้านเรียกว่าศาลเจ้าแม่ละอองสำลี
– วัดเขาสุวรรณคีรี ตั้งอยู่ถัดจากเขาพนมเพลิงไปทางด้านหลัง (ทิศตะวันตก) โดยตั้งอยู่บนเขาอีกยอดหนึ่งในเทือกเขาเดียวกัน กลุ่มโบราณสถานที่สำคัญคือเจดีย์ประธานทรงกลม องค์ระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ฐานเขียงใหญ่ ๕ ชั้น ใช้สำหรับเป็นลานประทักษิณ มีซุ้มพระทั้ง ๔ ด้าน ตรงก้านฉัตรมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาเดินจงกรมรอบก้านฉัตรเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์ทรงกลมล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง
– วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เชื่อว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๘๐) มาแล้ว โดยมีหลักฐานยอดซุ้มปูนปั้นประตูทางเข้าวัด ซึ่งมีลักษณะรูปแบบศิลปะสมัยบายน และหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยืนยันได้ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมีอายุมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ปัจจุบันมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร โบราณสถานสำคัญมีดังนี้
– ปรางค์ประธาน
– พระธาตุมุเตา
– มณฑปพระอัฏฐารศ
– กุฏิพระร่วงพระลือ
– วัดชมชื่น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยม ห่างจากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียงมาทางทิศตะวันออกประมาณ ๔๐๐ เมตร โบราณสถานที่สำคัญคือ เจดีย์ประธานทรงกลมก่อด้วยศิลาแลง วิหารอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงขนาด ๖ ห้อง มีมุขยื่นออกมาด้านหน้า ด้านหลังพระวิหารเชื่อมต่อกับมณฑป คล้ายเป็นห้องทึบอยู่ท้ายวิหาร หลังคาใช้ศิลาแลงก่อเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปจั่วแหลมด้านหน้าทั้งสองข้างมณฑปทำเป็นซุ้มจรนัม ๒ ซุ้ม ด้านหลังมีซุ้มจรนัม ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก แต่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว นอกจากนี้ยังมีลวดลายปูนปั้นที่หน้าบันด้านหลังมณฑป
– วัดเจ้าจันทร์ อยู่ด้านหลังวัดชมชื่น เป็นกลุ่มโบราณสถานสมัยสุโขทัยยุคต้น โบราณสถานสำคัญประกอบด้วยปรางค์ประธานก่อด้วยศิลาแลงรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นศิลปะแบบเขมรที่พบในประเทศไทย ที่เรือนธาตุมีซุ้มประกอบทั้ง ๔ ด้าน เป็นซุ้มทางเข้าสู่องค์ปรางค์เฉพาะด้านตะวันออก
– แหล่งเตาสังคโลก บ้านเกาะน้อย อยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย ๕ กิโลเมตร พบหลักฐานเตาตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม โดยกระจายทั่วไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เท่าที่สำรวจพบแล้วประมาณ ๒๐๐ เตา โดยอยู่รวมเป็นกลุ่มๆ กลุ่มเตาเผาที่สำคัญที่ได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นพร้อมทั้งอนุรักษ์ และจัดทำอาคารจัดแสดงคือ
– กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๖๑ มีเตาใต้ดิน ๔ เตา เป็นเตาขุดลงไปในดิน ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำหรือของแห้ง
– กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๔๒ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการเตาเผาและสิ่งผลิตจากเตา เพราะภายในใต้ดินนั้นขุดพบเตาเผาสังคโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง ๑๙ เตา
ที่อยู่ : อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 64130
เบอร์ติดต่อ : 055-950-714
แฟกซ์ : 055-950-714
อีเมล์ : sisat_pp@hotmail.com
เว็บไซต์ : –
บทความที่เกี่ยวข้อง