7 Greens พาไปล่องใต้เที่ยวพังงา มุมมองใหม่ เที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับพื้นที่ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายวิถีชีวิตและเรื่องราวในอดีตที่ชวนให้หวนนึกถึงวันวาน พร้อมอนุรักษ์วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของ “ชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่า”
ตะกั่วป่า ในอดีตนั้น คือเมือง “ตะโกลา” เป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าริมชายฝั่งอันดามัน และชุมชนการค้าที่มีความคึกคักเป็นอย่างยิ่งในยุคการทำเหมืองแร่ แม้ตะกั่วป่าจะผ่านยุคแห่งความรุ่งเรืองมานานแล้ว แต่ยังคงไว้ด้วยมนต์เสน่ห์ของอดีตอันรุ่งโรจน์ ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ชิโนโปรตุกีส วัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกิน และวิถีชีวิตของชุมชนอันเรียบง่าย ที่รวมกันเป็น Green Community ให้นักเที่ยวสายกรีนได้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตคนท้องถิ่น
ประเดิมที่แรก ตลาดถนนศรีตะกั่วป่า เป็นถนนสายวัฒนธรรม ที่ปิดถนนแล้วเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมาขายของริมสองฝั่งถนน นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดชิมขนมและอาหารท้องถิ่นอย่าง เมี่ยงลาวโบราณ แกงถุงรสเด็ด ข้าวเกรียบปากหม้อ โลบะเจ้าดัง ขนมอาโป๊ง ขนมโค และอีกมากมาย อีกทั้งยังมีสินค้างานฝีมือที่สวยงามของชาวบ้านให้ได้จับจ่ายใช้สอย และสนุกไปกับสีสันภายในชุมชนแห่งนี้
ในอดีตถนนศรีตะกั่วป่าเป็นถนนสายเศรษฐกิจ เพราะเป็นตลาดใหญ่ย่านชุมชน ทำให้มีความคึกคักและเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ จนกระทั่งปัจจุบัน บรรยากาศของที่นี่คงไว้ซึ่งความคลาสสิกกับตึกโบราณสไตล์ชิโนโปรตุกีส ซึ่งด้านหน้าอาคารจะมีช่องโค้ง (arch) ต่อเนื่องกันเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เกิดเป็นทางเดินเท้าสำหรับหลบแดด หลบฝนได้ รวมถึงรูปวาดฝาผนังที่วาดถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชน
แผนที่: https://goo.gl/maps/oU9MjsECgfUiabKp8
ไปต่อกันที่ร้านขนมเจ้าเด็ด “ร้านตวงรัตน์ ขนมเต้าส้อ ขนมพื้นถิ่น” ซึ่งขนมเต้าส้อ ถือเป็นขนมมงคลพื้นถิ่นของคนภูเก็ต-พังงาเลยก็ว่าได้ โดยมีจุดเริ่มต้นจากชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน ที่นิยมทำขนมเต้าส้อรับประทาน เดิมมีเพียง 2 ไส้ คือไส้หวานและไส้เค็ม แต่ปัจจุบันมีการดัดแปลงไส้ต่าง ๆ มากขึ้น ตัวขนมจะมีแป้งที่บาง กรอบนอก นุ่มใน คล้ายขนมเปี๊ยะ ถ้าใครมาเที่ยวและมองหาของฝากถูกใจคนรับ ต้องลองแวะซื้อขนมเต้าส้อ ร้านตวงรัตน์ ของดีจังหวัดพังงา ที่ส่งต่อความอร่อยมาจากบรรพบุรุษยาวนานกว่า 100 ปี
- แผนที่: https://goo.gl/maps/k1qTS76CZpm7CZnp7
- วันเวลาเปิดให้บริการ: ทุกวัน เวลา 07.00 – 18.00 น.
Facebook: ขนมเต้าส้อตวงรัตน์ ตะกั่วป่า
อิ่มท้องกันแล้ว ก็ไปสร้างบุญ ขอพรกันต่อที่ “ศาลเจ้าปุนเถ้ากงอำ” ศาลเจ้าเก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองตะกั่วป่า สร้างโดยชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ในเมืองตะกั่วป่า ส่วนใหญ่ชาวจีนที่อพยพมานั้นเป็นชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน ไหหลำ และกวางตุ้ง โดยศาลเจ้าปุนเถ้ากงอำนี้มีเทพเจ้าเถ้าก๋ง เป็นองค์เทพเจ้าประธาน เพราะมีความเชื่อว่าท่านจะช่วยปกป้องให้ความร่มเย็น และช่วยให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง
แผนที่: https://goo.gl/maps/JREsvAnLQ2vycGG78
นอกจากจะมีศาลเจ้าปุนเถ้ากงอำที่สามารถขอพรได้แล้ว ตะกั่วป่ายังมี “วัดคูหาภิมุข (วัดควนถ้ำ)” อีกหนึ่งวัดสำคัญสำหรับชาวพังงา เพราะวัดนี้เป็นวัดโบราณที่มีอายุกว่า 300 ปี มีอุโบสถขนาดเล็กที่สุดในประเทศไทย ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหินแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำ ที่ใบเสมารอบอุโบสถจะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ สลักอยู่โดยรอบ และสามารถทำพิธีกรรมทางศาสนาได้ อีกทั้งวัดคูหาภิมุข หรือ วัดควนถ้ำ นี้ยังเคยขุดเจอลูกนิมิตในช่วงที่บูรณะวัดใหม่อีกด้วย
ปิดท้ายกันที่ “สะพานเหล็กบุญสูง” หรือ สะพานเหล็กโคกขนุน เป็นสะพานที่ทำจากแผ่นเหล็กที่เคยเป็นชิ้นส่วนของเรือขุดแร่ดีบุกในอดีต เชื่อมต่อกันยาวรวม 200 เมตร ชาวบ้านใช้สำหรับข้ามแม่น้ำตะกั่วป่า ซึ่งนอกจากจะกลายมาเป็นสัญลักษณ์ให้ระลึกถึงอดีตของสถานที่นี้ว่าเมื่อก่อนนั้นเคยเป็นเมืองเหมืองแร่แล้ว ก็เป็นอีกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่จะต้องมาชมวิวทิวทัศน์และถ่ายภาพสวย ๆ บรรยากาศของสะพานเหล็กบุญสูงนั้น จะเป็นภาพของสะพานที่ทอดยาวผ่านทุ่งหญ้าสีเขียวขจี สามารถมองเห็นได้ทั้งต้นไม้นานาชนิดและทิวเขาไกลสุดลูกหูลูกตา
แผนที่: https://goo.gl/maps/dmNRdhBmN2NqTDQp9
นักท่องเที่ยวที่สนใจตะลุยเที่ยวอำเภอตะกั่วป่า สามารถใช้บริการ Green Logistics “รถสองแถวไม้” ยานพาหนะท้องถิ่นที่จะพาทุกคนไป 5 จุดเช็กอินต้องห้ามพลาดในชุมชนตะกั่วป่า ได้แก่ สะพานเหล็กบุญสูง โรงเรียนต้าเหมิง ร้านขนมเต้าส้อตวงรัตน์ วัดเสนานุชรังสรรค์ และ ศาลเจ้าพ่อกวนอู สามารถขึ้นได้ที่ตลาดถนนศรีตะกั่วป่า
- เบอร์โทรศัพท์: 099-359-9135
- Facebook: รถสองแถวไม้ท่องเที่ยว ตะกั่วป่า By โก้น้อย
ช่วงวันหยุดยาวใครมีแพลนลงใต้ไปเที่ยวจังหวัดพังงา เก็บชุมชนเมืองเก่าตะกั่วป่าไว้ในลิสต์ได้เลย ร่วมซึมซับวิถีชุมชนที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว เต็มไปด้วยร่องรอยแห่งความทรงจำและวัฒนธรรมที่ส่งต่อกันมามากกว่าร้อยปี พร้อม #เที่ยวใส่ใจ ชุมชน ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชน