เคยลองสังเกตกันไหมว่า ในหนึ่งวัน เราใช้ #หลอดพลาสติก กันกี่ชิ้น? 🥤 และรู้กันไหมคะว่า ‘หลอดพลาสติก’ เป็นขยะพลาสติกขนาดเล็ก ที่เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิต โดยสามารถส่งต่อกันได้ตามห่วงโซ่อาหาร และไม่แน่อาจจะเข้าสู่ร่างกายเราจากการรับประทานเนื้อสัตว์ก็เป็นไปได้อีกด้วย
“หลอดพลาสติก” มักจะเป็นพลาสติกประเภทโพลีโพรพีลีน (Polypropylene: PP) ซึ่งจริง ๆ แล้วพลาสติกประเภทนี้รีไซเคิลได้นะคะ แต่เครื่องรีไซเคิลส่วนใหญ่จะไม่รองรับพลาสติกขนาดเล็กอย่างหลอด จึงทำให้ “หลอดพลาสติก” กลายเป็นขยะกำพร้า ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้นั่นเอง
ในปี พ.ศ. 2564 “หลอดพลาสติก” เป็นขยะที่พบทางทะเลและชายฝั่งทะเลเป็นอันดับที่ 10 จำนวน 80,730 ชิ้น คิดเป็นร้อยละ 5.21 ของขยะทะเลที่พบ นอกจากนี้ผลวิจัยยังพบว่า นกทะเลกว่าร้อยละ 70 และเต่าทะเลร้อยละ 30 มีขยะพลาสติกอยู่ในท้อง นอกจากจะส่งผลให้สัตว์ต่าง ๆ ในท้องทะเลทุกข์ทรมานกับสิ่งแปลกปลอมในร่างกายแล้ว ในกระบวนการย่อยสลายของขยะพลาสติกก็ไม่สามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์เหมือนซากพืชซากสัตว์ และใช้เวลาย่อยนาน เมื่อย่อยสลายแล้วจะกลายเป็น “ไมโครพลาสติก” ซึ่งประกอบไปด้วยสารเคมีที่เป็นพิษหลายชนิด เมื่อไมโครพลาสติกนี้เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร ก็ทำให้มนุษย์เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสารเคมีที่เป็นพิษหลายชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน หากเรามีการรับประทานอาหารทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกนั่นเองค่ะ
หากหลีกเลี่ยงการใช้ไม่ได้จริง ๆ เราอยากแนะนำให้ทุกคนล้างทำความสะอาด และเก็บรวบรวม ส่งต่อไปให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือหน่วยงานที่รับบริจาคขยะประเภทนี้ เพื่อนำขยะประเภทนี้ไปใช้ไปต่อให้เกิดประโยชน์ เช่น การนำไปแปลงเป็นพลังงานทดแทน หรือเชื้อเพลิง นั่นเองค่ะ ♻ . ไม่ว่าจะทริปไหน 7 Greens ก็ยังอยากรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียวทุกท่าน พกแก้ว พกขวดน้ำ ไปไว้ใช้ใส่เครื่องดื่มแทนการใช้แก้วพลาสติก และหลอดพลาสติกนะคะ ใส่ใจตัวเอง ใส่ใจคนรอบข้างแล้ว อย่าลืมหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ตัวเราด้วยนะคะ 💚
Leave A Comment