ชูวัตถุดิบท้องถิ่นผสานกลิ่นอายวิถีชีวิตชาวเกาะ เพราะทุกพื้นที่มีเรื่องราว
แม้เกาะพะงันจะขึ้นชื่อว่าเป็นเกาะที่ไม่เคยเงียบงัน กับสีสันของ Full Moon Party ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี แต่อีกด้านของ #เกาะพะงัน ยังมีมุมเล็ก ๆ เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ที่ใครมาเยือนจะต้องตกหลุมรักหมดใจ #7Greens ขอพาทุกคนไหลไปตามจังหวะของชีวิต #เที่ยวใส่ใจ เกาะพะงันมุมมองใหม่ ที่ร้าน “ถึงพะงัน Dear Phangan” จุดเริ่มต้นจาก Passion การใช้ความชอบส่วนตัว บวกความใส่ใจเสิร์ฟลงในอาหาร ส่งผ่านคอนเซปท์แสนน่ารัก Home-cooked creativity from locally sourced ingredients of Koh Phangan โดยลูกค้าไม่รู้เลยว่าจะได้ทานเมนูอะไร แน่นอนว่า ทุกคนจะได้ลิ้มรสวัตถุดิบท้องถิ่นของเกาะพะงัน รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง หมึกสดๆ ของดีเกาะพะงัน ปลาจากประมงเรือเล็ก นอกจากนั้น วัตถุดิบส่วนใหญ่จะซื้อวันต่อวันจากตลาด สดใหม่ ปริมาณที่ใช้พอดีกับจำนวนลูกค้าที่จองเข้ามา ลด #FoodWaste มีอาหารตามฤดูกาลที่ไม่ได้มีทุกวัน ให้ความรู้สึกเหมือนได้ชิมอาหารของคนที่บ้าน เป็นรสชาติที่คิดถึง
ซึ่งสกู๊ปสัมภาษณ์พิเศษ #จัดจ้านย่านบ้านฉัน มีโอกาสได้พูดคุยกับ คุณชนินทร์ เจียรทัศนประกิต และ คุณปัณฑ์ดา แสนลา เจ้าของธุรกิจหนุ่มกรุงเทพ ฯ สาวโคราช ที่หลงใหลในธรรมชาติ ผู้คน ต้องมนต์เสน่ห์ของเกาะพะงันจนปักหลักอยู่ที่นี่ ต่อยอดร้านอาหาร ขยายกิจการที่พัก “บ้านนุ้ย – Baan Nuit” บ้านไม้วินเทจสะท้อนชีวิตของคนเกาะพะงันดั้งเดิม หันซ้ายเจอสวนมะพร้าว ก้าวไปเพียงนิดอาจจะเจอควายของชาวบ้านที่ผูกไว้หน้าบ้าน บรรยากาศสุดคลาสสิก และอาจได้เที่ยวตามรอยหนัง เพื่อนสนิท อีกด้วย
Green Service การท่องเที่ยวยั่งยืน มีได้หลากหลายมิติ ทั้งสองคนเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่คงไว้ซึ่งตัวตนและมีจุดยืนอย่างชัดเจน ไม่ไหลไปตามกระแส ความตั้งใจดีที่จะนำเสนอเรื่องราวของเกาะพะงันผ่านอาหารแต่ละจาน เคารพวิถีดั้งเดิมของเกาะให้มากที่สุด เพราะพะงันไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่คือ “พื้นที่พิเศษ” จะมีความพิเศษในแง่มุมใดบ้าง ติดตามในบทสัมภาษณ์ได้เลยค่ะ
แนะนำตัว พร้อมเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ ร้าน “ถึงพะงัน” และที่พัก ‘บ้านนุ้ย’ จาก ความไม่ตั้งใจ สู่ แรงบันดาลใจใหม่
คุณชนินทร์: จุดเริ่มต้นต้องที่ ถึงพะงัน ก่อนครับ เริ่มตั้งแต่ตอนจีบกันใหม่ ๆ คุณปัณฑ์ดา เป็น พยาบาลห้องฉุกเฉิน ชนินทร์ก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่อง Wellness มาเจอกันที่เกาะพะงัน ช่วงแรก ๆ เดินทางและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเกาะพะงันร่วมกัน เพราะผมมาจากอีกฟากของเกาะ ซึ่งไม่รู้เลยว่า บนเกาะนี้ในอีกฟากที่เขาอยู่เกิดอะไรขึ้นบ้าง จนข้ามมาเจอกัน แล้วคุณปัณฑ์ดา ชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว คนก็บอกว่าทำไมปัณฑ์ดา ถ่ายรูปเยอะถ่ายรูปสวย ทำไมไม่ตั้งเพจขึ้นมา ผมเป็นคนที่สนใจเรื่องคอนเซปต์ วิธีการสื่อสารเหมือนเป็นการบันทึกเรื่องราวของที่นี่ ถึงพะงัน เป็นรูปแบบของการเขียนจดหมาย ถึง…คนนั้น คนนี้ เราต้องการที่จะสื่อสารเกี่ยวกับเกาะ ซึ่งไม่รู้หรอกว่าสุดท้ายจะนำพามาจนถึงวันที่เรามีร้านเป็นของตัวเอง เลยกลายเป็นว่า เราใช้ชื่อนี้เลยแล้วกัน ไหน ๆ ก็ทำมาสักพักแล้ว เลยเป็นที่มาของร้านชื่อ ถึงพะงัน ครับ
คุณปัณฑ์ดา : ปัณฑ์ดา ชอบถ่ายรูปและไปในที่ที่คนไทยไม่รู้จักค่ะ บางคนมาเที่ยวพะงันก็จะมาตามรอยจุดเช็กอิน แต่ว่าเราไม่ได้ชอบที่แบบนั้น บางที พอลงเวรก็ไปในจุดที่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้ พอถ่ายรูปออกมาคนก็สนใจ และมีที่มาจากหนัง “เพื่อสนิท” ด้วยค่ะ ในหนังเพื่อนสนิท ส่วนใหญ่จะถ่ายบนเกาะและมีตัวละครที่เป็นพยาบาล เราก็อินจากหนัง ที่มีฉากเขียนจดหมายเลยตั้งชื่อเป็นเพจ ถึงพะงัน ทีแรกไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีร้านอาหาร มีแพลนว่าหลังจากแต่งงาน ลาออกจากพยาบาลแล้วเราจะทำอะไร แต่ช่วงที่เราทำร้านมีพี่ที่ชนินทร์เค้ารู้จักและสนิทอยู่ในวงการอาหาร
คุณชนินทร์: เรารู้จักพี่ที่ทำร้านอาหารที่ เชียงใหม่ ชื่อร้าน Maadae Slow Fish Kitchen ชื่อพี่เยา เยาวดี ชูคง เป็นคนที่อยู่ในเครือข่ายเกี่ยวกับการทำ Slow Food คือ การเลือกวัตถุดิบบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนมาทำอาหาร เริ่มนำเอาวัตถุดิบชุมชนจาก กลุ่มประมงเรือเล็กที่ ชุมพร ขึ้นไปที่เชียงใหม่ สนับสนุนประมงเรือเล็กในช่วงโควิด-19 พี่เขาพาทีมงานมาช่วยงานแต่งงาน มาเที่ยวด้วย เลยบอกว่า ถ้าอยากจะทำ Chef Table เดี๋ยวจะทำให้ โดยที่เราไม่ได้คิดว่าจะเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร
คุณปัณฑ์ดา : พี่เยาบอกว่าที่เกาะพะงันมีศักยภาพ มีแหล่งอาหารคุณภาพ แล้วบ้านก็ไม่ไกลจากแหล่งพวกนี้ และบุคลิกของทั้งสองคนก็พร้อม เธอเป็นพยาบาลฉุกเฉินดูหน่วยก้านใช้ได้ เทรนนิดหน่อยเปิดร้านได้เลย ก่อนที่จะเปิดร้าน พี่เยาเอาตัวเองมาอยู่ที่เกาะพะงัน 7 วันในแต่ละวันจะพาเราไปท่าเรือต่างๆพาเราไปดูปลาไปดูว่าชาวประมงตรงนี้เขาขึ้นกี่โมงทำไมจะต้องเอาของเรือเล็กทำไมไม่เอาเรือใหญ่ตอนนั้นเราก็เพิ่งรู้เหมือนกันว่าเกาะพะงันไม่ได้ส่งออกอาหารทะเลไปที่ไหนเราเอาอาหารทะเลมาให้คนในเกาะบริโภคกันเองส่วนมากก็เป็นอาหารทะเลจากประมงเรือเล็กอยู่แล้วเราก็จะได้กินของสดมากๆของดีและไม่มีสาร
คุณชนินทร์: เหมือนเรามาเริ่มเปิดมิติของอาหารที่เกาะครับ จริง ๆ แล้วพะงันมีกิจกรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย สามารถซอยย่อยไปในเชิงอื่น ๆ ทั้งเชิงวัฒนธรรม เชิงสุขภาพ พอเริ่มแตะในเรื่องของอาหาร ก็ทำให้เจอชุมชนของคนเกาะที่เป็นชาวประมง หรือชาวสวนดั้งเดิม ประกอบกับช่วงโควิค ทำให้เรามีเวลาว่างมากขึ้น ก็มีเวลาได้สืบค้นว่า วิถีชีวิตของชาวเกาะพะงันเป็นประมาณไหน พอเกิดเป็นร้านอาหารขึ้นมา เราสามารถจะมีพื้นที่ที่จะเล่าเรื่องพวกนี้ได้ผ่านจานอาหาร เป็นตัวแทนที่ทำให้คนพูดถึงเกาะพะงันมากขึ้น ทุกอย่างก็ค่อย ๆ สะสมไป จนร้านอาหารดำเนินมาได้เกือบปี รู้สึกไปต่อได้ เหมือนเราได้ทดลองทำธุรกิจใหม่และเปิดหูเปิดตาเราเยอะมาก ทำให้เราได้เชื่อมโยง มีความสัมพันธ์กับคนในเกาะมากขึ้น ทั้งคนทำปลา ชาวประมง คนในตลาด
คุณปัณฑ์ดา : อย่างครัวเราก็ทำขึ้นมาเองค่ะ ใช้ความเป็นเด็กอีสาน นึกถึงบ้านยายหลังเก่าที่เป็นบ้านไม้ยกใต้ถุนสูง ครัวอยู่ข้างบน มีที่ห้อยหม้อ ตอนนั้นคิดแล้วทำเลยไม่ได้มีแผนล่วงหน้า เพราะว่าได้ไม้เก่า ได้บานหน้าต่างมาเยอะ ไม้พวกนี้มันเหลือเราก็เลยทำครัวออกมาแบบนั้น เป็นอะไรที่สวยมาก ใครมาก็ชอบ อาจจะเป็นเพราะว่าเราใช้ครัวที่บ่งบอกว่าแม่ครัวคิดถึงที่บ้านถึงทำครัวนี้ออกมา คิดถึงยาย ทุกคนที่เดินเข้ามาในร้าน เห็นครัวแล้วจะต้องนึกถึงอดีตหรือเรื่องราว บางคนก็บอกว่ารสชาตินี้ไม่ได้กินมานานแล้ว อาหารหนึ่งจานสามารถบอกเรื่องราว เล่าความเป็นอดีต หรือทำให้เขาย้อนนึกถึงอะไรบางอย่างได้ ที่เกาะพะงัน ผักแต่ละอย่างจะได้จากทางเรือนอนส่งมาจากข้างนอก ด้วยความที่เราเป็นคนอีสานและเกาะพะงันมีคนอีสานที่มาเช่าพื้นที่หรือปลูกผักเยอะค่ะ พอเราทำอาหารก็จะไปหาวัตถุดิบตรงนั้น เราได้คอนแทคคนอีสานที่มาทำสวน เช่าพื้นที่ปลูกผัก ทำให้ได้ผักที่สดมาก ๆ อย่างถ้าจะเปิดร้านมีคนจองมา 4 โมง ประมาณบ่าย 3 โมง คนที่ปลูกผักจะวิ่งมาส่ง เขาเก็บเสร็จล้างแล้วมาส่งเลย โดยที่เราไม่ต้องใช้ผักที่ส่งมาจากนอกเกาะ บางวันที่ทำเมนูน้ำพริกผัก จะมีบางอย่าง เช่น มะเขือเทศราชินี เราจะต้องซื้อจากข้างนอก
อยากให้ช่วยเล่าถึงคอนเซปต์ของร้าน ถึงพะงัน ความพิเศษของวัตถุดิบท้องถิ่น ให้คนกินอิ่มท้องได้แบบปลอดภัย ไร้สาร มีอะไรอีกบ้างที่แตกต่าง
คุณปัณฑ์ดา : คอนเซปต์เฉพาะของที่ร้าน ลูกค้าจะไม่รู้ว่าจะได้กินอะไร เราจะบอกลูกค้าก่อนเลยว่า เราเองก็ไม่รู้นะว่าจะได้ทำเมนูอะไรในแต่ละวัน เช้ามาไปตลาดมีวัตถุดิบอะไร เราถึงจะทำเมนูนั้น บางวันถ้าหมึกไม่สด เมนูที่ทำจากหมึกจะไม่มี เพราะไม่อยากทำอาหารที่ไม่สด บางวันพายุเข้าหมึกไม่มีแน่นอน บางวันปลาน้อย ก็จะปรับทำเมนูน้ำพริกแทน คอนเซปต์ร้านไม่เร่งธรรมชาติ ดูเป็นวัน ๆ ว่าเราจะทำอะไร ทำให้เราสนุก ไม่กดดันตัวเอง ไม่ต้องกังวลว่าเขามาถึงต้องได้กินสิ่งนี้ ฉะนั้น คนที่มากินร้านเราจะค่อนข้างพิเศษ จะเปิดโลกมาก ปกติเราถามแค่ว่า แพ้ซีฟู้ดไหม หรือไม่กินอะไร บางคนบอกว่าแพ้แต่อยากลอง ก็ลองดู เราเป็นพยาบาลห้องฉุกเฉินน่าจะช่วยได้ เราอธิบายว่าบางอย่างที่เขาแพ้อาจจะแพ้สารที่แช่มาในอาหาร แต่ที่นี่รับรองได้ว่า วัตถุดิบที่เราซื้อมา เอามาจากประมงเรือเล็ก ไม่แช่สารใด ๆ ค่ะ
คุณชนินทร์: พอมาถึงจุดที่เรากลายเป็นส่วนหนึ่งในการแปรรูป แล้วต้องเป็นตัวแทนการคัดเลือก เล่าเรื่องผ่านอาหาร ทำให้ความสัมพันธ์ที่เรามีหรือการรับรู้เกี่ยวกับเกาะพะงันลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ หรือช่วงเวลา เช่น ช่วง Full Moon ที่ฟ้าสว่างมาก ๆ ปลาก็จะไม่ขึ้นมาอยู่บนผิวน้ำ เพราะมันสว่างเกินไป
คุณปัณฑ์ดา : ช่วงนั้นตัวเลือกปลาที่ทำอาหารก็จะน้อย นี่คือสิ่งที่คนในเกาะเขารู้กันอยู่แล้ว แต่เขาไม่ได้บอกเล่าเรื่องราว พะงันมีวัตถุดิบที่เยอะมาก แต่ยังไม่เจอคนที่ถ่ายทอดให้เราได้รู้ เวลาไปตลาดก็ขอคำแนะนำ พูดคุยถามจากคนเฒ่าคนแก่ที่นี่ ก็เอาความรู้มาเล่าต่อให้คนในร้านฟังว่าแต่ละอย่างเป็นมาอย่างไร เราจะเปิดเฉพาะรับจองแต่ละวันแค่ไม่กี่โต๊ะ เพื่อไม่ให้กดดันตัวเอง เพราะเราซื้อวัตถุดิบมาตามจำนวนโต๊ะที่จองค่ะ ไม่ซื้อเผื่อ เหมือนมาดูโชว์ เรารู้สึกดีมากที่พะงันมีวัตถุดิบหลากหลาย อย่างหมึกผัดกะปิ ปัณฑ์ดา ไม่เคยกินที่พะงันเลย ซึ่งจำได้ว่ามาใต้ครั้งแรกเคยกิน แต่ทำไมเกาะพะงันไม่มีเมนูนี้ พอพี่เยามาทำเมนูนี้ เราได้ชิมแล้วชอบมาก เลยเอาเมนูนี้มาทำบ้าง ที่ร้านมี 10 กว่าเมนูที่ไม่ได้มีประจำทุกวัน แต่หมึกผัดกะปิจะมีแทบทุกวัน เพราะพะงันหมึกเยอะมาก วัตถุดิบอื่น ๆ เช่น กุ้งจากบ้านดอน สุราษฯ ส่วนมากจะทำเมนูยำ เป็นกุ้งเลี้ยง ผ่านการเคลื่อนย้ายมานิดเดียวทำให้สดมาก กุ้งเกาะพะงันก็จะเป็นกุ้งลายเสือ มีหอยตลับสด ๆ ส่วนหมึกที่มีเยอะอยู่แล้ว ถ้าไม่มีไข่จะเอาไปผัด หมึกตัวใหญ่เอาไปย่าง ปลาแต่ละวันไม่เหมือนกัน ถ้าปลาตัวเล็กเนื้อดีจะทำแกงส้ม ทำเมนูข้าวยำปลาเกาะพะงัน ขึ้นอยู่กับว่าอารมณ์ของเรา สภาพอากาศเป็นแบบไหน หันไปมองวัตถุดิบแล้วจะหยิบมาทำเมนูอะไร
มาถึงเรื่องบ้านพักกันบ้าง กับเสน่ห์ของ “บ้านนุ้ย” ที่ไม่เหมือนที่ไหน บ้านไม้ที่ดัดแปลงจากบ้านเดิมของคนบนเกาะ อยู่ในสวนมะพร้าว แนะนำเที่ยวแบบไม่มีแพลน (เจ้าของพาเที่ยวได้ ถ้าว่าง) เหมือนได้ตามรอยหนัง เพื่อนสนิท
คุณปัณฑ์ดา : พอเรามีเงินมาจากการทำร้านอาหาร บวกกับรู้สึกว่าความตื่นเต้นเริ่มหายไป จนมีเพื่อนมาดูบ้านแล้วถ่ายรูปส่งมาบอกว่า ปัณฑ์ดา ต้องชอบบ้านหลังนี้แน่เลย เป็นบ้านไม้ พอเห็นก็มองเห็นภาพในหัวเลยว่า เราจะทำอะไร ด้วยความที่เป็นบ้านของคนเกาะพะงันตั้งแต่ดั้งเดิม อายุประมาณ 20 ปี แล้วก็อยู่ในสวนมะพร้าว ชอบมากที่อยู่ในสวนและไม่ติดถนน พอเข้ามาที่บ้านหลังนี้ทำให้เราคิดถึงอดีตหลาย ๆ อย่าง มีระเบียงแรกเป็นไม้ห่าง ๆ เพื่อให้ลมเข้าทางใต้ถุน เป็นภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ขึ้นไปอีกระดับนึง ก็เป็นห้องนั่งเล่น มีห้องน้ำห้องนอนในบ้านหลังเล็ก ๆ เลยเริ่มมีไอเดียว่าจะทำเป็นที่พัก ใช้ความเป็นตัวเรา วัฒนธรรมอีสานร่วมกับคนใต้ ผสานกับความเป็นมาของคนเกาะ ทำไมเขาทำบ้านยกใต้ถุนความสูงเท่านี้ ไม่สูงเท่าของคนอีสาน เพราะคนใต้ไม่ได้ใช้พื้นที่ตรงใต้ถุนเหมือนคนอีสาน แค่อยากให้น้ำไหลผ่าน เดิมทีบ้านจะตีฝ้ารอบห้อง สิ่งแรกที่ทำ คือ เอาฝ้าออกให้หมดแล้วเหลือแต่ไม้เพียว ๆ ซึ่งสวยมาก ในห้องน้ำเอากระเบื้องออก ขัดมัน สีแบบโอ่งมังกรแดง ทุกอย่างจะอิงจากอดีตที่ผ่านมา ทั้งของคนอีสานและคนใต้ พอเราเริ่มถ่ายรูปโชว์บ้านไปเล็ก ๆ น้อย ๆ โดยไม่ได้เติมแต่งอะไรมากมายคนก็สนใจเยอะมาก
คุณชนินทร์: พอระหว่างทำ ๆ ไป ก็หาวิธีการเรียกชื่อบ้าน คิดว่าชื่อ บ้านนุ้ย ดีกว่า เพราะว่าเป็นหนึ่งในคำเรียกแทนตัวเองของคนใต้ เช่น เราแทนตัวเองว่า หนู กับพ่อแม่ แม้ว่าเราจะโตแค่ไหน ก็ต้องแทนตัวเองว่า นุ้ย อยู่ดี มันแทนให้ความรู้สึกนอบน้อม อยากให้คนเอ็นดู แล้วก็เป็นชื่อของตัวละครในหนัง เพื่อนสนิท ที่เป็นพยาบาล แล้วตัวบ้านเราใกล้กับโรงพยาบาลของเกาะมาก เลยคิดว่าเจาะกลุ่มแฟน ๆ หนังเพื่อนสนิทไปเลย อิง Reference การแต่งบ้านกับภาพในหนังด้วย เขาเป็นพยาบาล มีห้องหนังสือ เขาล่อลวงพระเอกเข้ามาเพื่อให้มายืมหนังสือที่บ้าน เลยคิดว่ามาแนว ๆ นี้มันมีจินตนาการ ซึ่งการเดินทางเป็นสิ่งที่ทำให้จินตนาการเราได้ทำงาน
คุณปัณฑ์ดา : หนังเรื่องนี้ผ่านมา 20 กว่าปีแล้วแต่กลายเป็นว่ายังมีแฟนคลับของหนังเรื่องนี้หลังจากโพสต์รูปบ้านไปเขาเป็นแฟนพันธ์แท้ที่ติดตามหนังเพื่อนสนิทติดต่อเข้ามาเพื่อมาตามรอยเรารู้สึกว่าตอนนี้พะงันกำลังจะเจริญไปแบบก้าวกระโดดมากแต่เราอยากเก็บภาพเก่าๆที่แต่ก่อนคนเคยมาตรงนี้ตามรอยฉากในหนังแล้วตอนนี้เป็นอย่างไรมีหลายคนมากที่อยากมา
ชวนคุยต่อถึงอนาคตของ “บ้านนุ้ย” วางแผนฉายหนัง และ ขยายบ้านเพิ่มอีก 2-3 หลัง
คุณปัณฑ์ดา : สิ่งที่เราอยากทำต่อไป เราวางแผนที่จะทำบ้านอีก 2 หลัง แล้วยังมีที่ข้างหน้าที่เราจะเว้นว่างไว้สำหรับฉายหนังฟรีเดือนละครั้ง ให้ชาวบ้าน ป้าๆ ตายาย มาขายของขายผัก ขายของ แล้วเราชวนคนมา อยากให้ชาวบ้านมาอยู่รวมกันตรงนี้ ใช้หนังกลางแปลงเป็นการเรียกคน แล้วก็อยากจะชวนพวกพี่ ๆ ที่เคยทำหนังสมัยก่อนมา เขาก็สนใจที่เห็นเราอยากฉายหนัง เพื่อนสนิท ผู้กำกับรู้สึกว่าน่าสนใจ เป็นสิ่งที่เราจะทำได้เพื่อให้พะงัน ยังเหลือความทรงจำแบบนี้
คุณชนินทร์: หนัง เพื่อนสนิท คนอาจจะจำไม่ได้ว่าพาร์ทหนึ่งของหนัง คือ เชียงใหม่ และ เกาะพะงัน แล้วเกาะพะงันเมื่อเวลาผ่านไป หนังมีความคลาสสิกมากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนถูกบ่มโดยที่ไม่รู้ตัว เราก็เหมือนเติบโตมากับหนังเรื่องนี้ ซึ่งมีอิทธิพลกับเรามากกว่าที่เราคิด ช่วงเวลานี้เกาะพะงันค่อนข้างที่จะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนา ยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ สิ่งที่เราเลือกทำ คือการคงคอนเซปต์ โชว์ให้เห็นว่า นี่แหละเป็นเหตุผลที่คนเลือกมาที่เกาะพะงันตั้งแต่แรก เพราะมันมีความคลาสสิก มีกลิ่นอายบ้าน ๆ สวนมะพร้าว มีสังคมที่คนรู้จักกัน สนิทชิดเชื้อเหมือนญาติมิตร คนในนี้เป็นชุมชนที่ไม่ได้หมายความว่า เป็นคนที่เกิดและโตที่นี่อย่างเดียว รวมไปถึงคนที่เลือกเข้ามาอยู่ที่นี่ ทำมาหากิน ใช้ชีวิต สร้างครอบครัวที่นี่ หนึ่งในนั้นก็คือเรา เราคือคนที่อพยพมา มันเหมือนเรามาถึงแล้วจะมีแรงดึงดูดบางอย่างกับเกาะนี้ เลยอยากให้คนที่มาเที่ยวมีความละเมียดกับการสัมผัสชีวิตบนเกาะมากขึ้น แทนที่จะมาตามกระแสแล้วก็ออกไป
คุณปัณฑ์ดา : อย่างลูกค้าที่มาบ้านนุ้ย ล่าสุด เราก็พาไปตลาดซื้อปลามาย่างกินด้วยกัน เราก็ดูตามสไตล์ลูกค้าที่มาพัก บางคนมีที่อยากให้เราพาเที่ยว ก็จะหาจังหวะถ้าเราว่าง จะพาไปเที่ยว ทำอาหาร ไปดูพระอาทิตย์ตก ไปดูท่าเรือ เช้ามาไปวิ่งออกกำลังกายดูปลาได้นะ หรือไปเที่ยวน้ำตก ทะเล เราพาไปได้ค่ะ ตามจังหวะที่เขามาว่าช่วงนั้นมีอะไรน่าสนใจ คำแนะนำคือ อย่าวางแผน ให้ปล่อยไปตามจังหวะของเกาะ บางวันวันหนึ่งอาจจะมีหลายฤดู ก็ไปปล่อยไปตามจังหวะ เพื่อไม่ต้องกังวลถ้าไม่เป็นไปตามแผน ตอนนี้ เราทำบ้านเพิ่มอีกสองหลังเป็นบ้านนุ้ย 2-3 อีกสองหลังที่เอามาจะเอามาจากเชียงใหม่ค่ะ เอาไม้เก่าเป็นหลองข้าว (ยุ้งข้าวของทางเหนือ) รื้อจากที่นู่น เพราะเราเคยใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงใหม่ก่อนจะลงมาที่นี่ และตอนนี้พะงันไม้หายาก ก็จะผสมผสานกับบ้านนุ้ยหลังแรกที่เป็นบ้านของชาวเกาะดั้งเดิม ให้มีความลงตัวที่สุด ถ้าบ้านนุ้ย 3 หลังนี้เสร็จก็จะเป็นชุมชนบ้านเก่าของปัณฑ์ดากับชนินทร์
คุณปัณฑ์ดา : เราเป็นคนอีสานที่มาอยู่เกาะพะงัน เหมือนกับร้านอาหารที่เราทำ เราอยากเอาวัฒนธรรมของทั้งสองที่มาอยู่ตรงนี้ เพราะอีสานและใต้ก็มีข้อดี เกลือจากบานา เกลือหวานปัตตานี, กะปิจาก เรือเล็กชุมพร, พริกไทยจากชุมพร ชาวประมงปลูกเอง, ข้าวสังข์หยดจากพัทลุง พอข้าวหมดแล้ว กลับบ้านพอดีเลยเอาข้าวจากที่บ้านกลับมาด้วย เพราะเรากินข้าวหอมมะลิแท้ที่บ้านปลูกเองอยู่แล้ว ตอนเราเปิดร้านเอาข้าวของตัวเองมาทำอาหาร ลูกค้าบอกว่าอร่อย จังหวะที่พ่อมาหา แล้วชนินทร์เสิร์ฟข้าวก็จะพรีเซนต์ว่า ข้าวหอมมะลิออแกนิก คนปลูกนั่งอยู่ตรงนี้ เราทำอาหารอยู่แล้วหันไปเห็นรอยยิ้มของพ่อ ทำให้เข้าใจในคำสอนของพี่เยา ที่สอนมาตลอดว่า เอาอะไรของเขามาใช้ ให้ขอบคุณเขาด้วยที่ผลิตวัตถุดิบดี ๆ มาให้เรา ซึ่งก็ทำมาตลอด แต่เราพิเศากว่าที่ได้เห็นรอยยิ้มของพ่อ ฝรั่งเขาก็จะตื่นเต้นเพราะไม่เคยกินข้าวหอมมะลิที่ปลูกเองเลยนะ รู้สึกว่ามันดีมากในการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นที่เราเอาวัตถุดิบดี ๆ ของเขามาพรีเซ้นต์ มาช่วยหาเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ
คุณชนินทร์: ช่วงโควิดจะมีชวนนักดนตรีอินดี้จากทางเหนือลงมาจัดอิเวนต์กันกับคนบนเกาะเราทำร้านอาหารก็รู้จักคนมากขึ้นเราอยู่ที่นี่เหมือนเป็นเจ้าภาพแล้วมีจังหวะก็อยากชวนเพื่อนมาตลอดพอมีร้านก็มีเหตุผลที่จะชวนมานักดนตรีก็ได้เดินทางได้เห็นกลุ่มผู้ชมใหม่ๆเพราะที่นี่จะไม่เหมือนกลุ่มผู้ชมที่เขาคุ้นเคยเกาะพะงันค่อนข้างเป็นพื้นที่พิเศษครับ
คุณปัณฑ์ดา : คนที่เราเคยรู้จักก็จะนำพาคนที่มีชื่อเสียงหรือคนอื่นเข้า จังหวะมันดีมากทำให้คนรู้จักเพิ่มขึ้น การแสดงดนตรีวงอินดี้ที่ร้าน เป็นความตั้งใจของเรา ชนินทร์มีเพื่อนนักดนตรีเยอะทางเชียงใหม่ อย่างวง KLEE BHO เคยพาวงไปเล่นที่เชียงใหม่อยู่แล้ว เกาะพะงันเองเวลามีคนนอกพื้นมา จะตื่นเต้นเวลามีอิเวนต์ร่วมกัน นักดนตรีทางเหนือเขาอยากจะมาเล่นทางใต้ แต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร พอเอานักดนตรีทางเหนือมาก็จะมีธีมจากภูเขาสู่ทะเล แต่เราจะเลือกดูธีมให้เข้ากับนักดนตรี อย่างพี่คลี KLEE BHO ฝรั่งชอบมาก เป็นแนว World Music เครื่องดนตรีเยอะมีความแปลกใหม่
ในมุมของผู้ประกอบการ คิดว่าสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความยั่งยืนให้เกิดขึ้นกับการท่องเที่ยวได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะสถานที่ที่เป็น Tourist Attraction
คุณชนินทร์: สำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อาจจะต้องตระหนักมากขึ้น ว่าเรากำลังทำอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ ทางลัดให้สำเร็จเร็วเกินไปหรือเปล่า ผมว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงคนไทย มีความชอบหลายแบบ คนทำธุรกิจต้องกลับมาถามตัวเองว่า อะไรคือความเชื่อที่เราเลือกทำแบบนี้ในพื้นที่ของเรา ไม่ใช่แค่การทำธุรกิจใช้ทรัพยากรไปจนถึงจุดที่ควบคุมอะไรได้แล้ว ผู้ประกอบการจะต้องมี Commitment กับพื้นที่มากขึ้น เราเองอยากลดช่องว่างเรื่องความเป็นนักท่องเที่ยว อยากให้เขาเห็นว่า นี่คือวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ส่วนหนึ่งเราเป็นเจ้าของร้านอาหาร เป็นเจ้าของที่พัก อีกพาร์ทเราเป็นเจ้าภาพ คุณเป็นแขก อยากแชร์มุมมองให้คนที่มาได้เข้าใจ เมื่อมาที่ร้านเราจะไม่ใช่พฤติกรรม รูปแบบการท่องเที่ยวแบบเดิม ผมคิดว่าคนในอุตสหกรรมต้องละเอียดมากขึ้น กลับมาสู่วิถีชีวิต ตัวตนของคุณเอง ความสามารถของคุณในการรองรับนักท่องเที่ยวมีมากน้อยแค่ไหน ต้องไม่เกินตัว มีความกล้าของคนในแวดวงการท่องเที่ยว เราอาจจะมองว่า ตัวเองเป็นผู้บริการ ต้องให้บริการไม่ว่าลูกค้าต้องการอะไร แต่มีบางอย่างที่ต้องเริ่มให้ความรู้ เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างละมุนละม่อม ถ้าเรามีข้อความ Statement จุดยืนที่ชัดเจนในธุรกิจของเรา เผื่อมีคนที่เข้ามาเห็นและอยากทำความเข้าใจ ค่อย ๆ ขยาย Network เครือข่ายที่คล้าย ๆ กัน ค่อย ๆ ทำให้เห็นแล้วถึงจะเปลี่ยนได้ครับ
คุณปัณฑ์ดา : อย่างตอนนี้ พะงันมีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำจืด น้ำไม่พอ เวลาลูกค้ามาที่ร้าน ลงเรือมาถึงขอเข้าห้องน้ำ เราจะบอกเลยว่าช่วยตักราดนะคะ น้ำไม่พอ เขาจะมีความสงสัย เราก็อธิบายว่าตอนนี้เกาะพะงัน น้ำจืดไม่พอเพราะฝนแล้ง บวกกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยอะมาก ซึ่งบนเกาะมีแหล่งน้ำจืดไม่เยอะ เราเล่าให้เขาฟังและบอกให้นักท่องเที่ยวรู้ว่า เข้ามาที่นี่อย่าใช้น้ำมากเกินความจำเป็น เราจะเล่าให้เขาเห็นถึงความเป็นจริง ไม่ได้ปกปิดนักท่องเที่ยว เพื่อทำให้ทุกคนได้รู้ว่าคุณต้องช่วยกันระมัดระวังตอนอยู่ที่นี่ ไม่ใช้น้ำเยอะไป เราจะบอกนักท่องเที่ยวแบบนี้ตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเป็นไปตามกลไกตลาด แบบ Mass ก็จะไม่แตกต่าง เราต้องมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจนเป็นตัวเอง ไม่อย่างนั้นก็จะไม่ยั่งยืนในแบบของเรา เหมือนเราทำอาหารไม่ใส่ผงชูรส พ่อแม่เราถามว่าจะอร่อยเหรอ เราบอกว่ามากินสิ พอเขาชิมก็บอกว่าอร่อยนี่ ต้องทำให้เห็นว่า เปิดร้านแบบนี้รายได้จะพอเหรอ เราก็บอกว่ามี เพราะคนที่มาเขาให้ความสำคัญและเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่เราทำ เราไม่เร่งตัวเอง เพื่ออยู่ให้ได้นานกับอาชีพนี้ ไม่ใช่ว่าคนมาพะงันเยอะ เราต้องกอบโกย สุดท้ายเราจะหมดแรง หมดพลัง
สุดท้าย อยากให้ทั้งคุณปัณฑ์ดา คุณชนินทร์ เชิญชวนนักท่องเที่ยว มาสัมผัสมุมมองใหม่ของเกาะพงัน แวะมาที่ ‘บ้านนุ้ย’ และ ร้าน ถึงพะงัน #จัดจ้านย่านบ้านฉัน
คุณปัณฑ์ดา : ปัณฑ์ดาก็เป็นคนที่มาแล้วกลับไปไม่ได้ อยู่เกิน 3 ปี ได้สามี ซื้อที่ซื้อทางอยู่ที่นี่ พะงันเป็พื้นที่ที่มีครบทุกอย่าง ถ้าเราอยากไปในมุมที่มีปาร์ตี้เราก็ไปได้ แต่ถ้าวันไหนเราอยากอยู่คนเดียวกับพื้นที่ในบ้านที่มีสวน หรืออยากไปทะเลนั่งคนเดียว หรือต้องการความช่วยเหลือใด ๆ มันมีหมดเลย เวลาเราพาลูกค้ามาหนึ่งคน เขาไม่รู้จักใครแต่พอชวนไปร้านเรา หรือชวนไปดูเพื่อนเล่นดนตรี เขาจะได้เพื่อนใหม่เพิ่มอีก 3-4 คน กลับมาครั้งหน้า เขาก็จะมากับเพื่อน ๆ เหล่านี้ และรู้ว่าจะมาหาใคร เป็นเสน่ห์ของพะงันที่ไม่เหมือนแค่มาเที่ยวแล้วกลับไป เหมือนมาหาเพื่อน ปีหน้าจะมาอีก ถ้าชวนให้มาเที่ยว บ้านนุ้ย ก็คือ ถ้าอยากมาเห็นวิถีความเป็นเกาะแต่ก่อน ก็อยากให้มาที่บ้านนุ้ย เพราะว่าเราอยู่ในสวนมะพร้าว ที่ปลูกมาแต่เดิมมานานแล้ว ข้างบ้านเรามียายเพื่อนบ้านที่ยังใช้วิถีชีวิตเดิม ๆ ในบ้านมีทุกอย่างที่บ่งบอกเรื่องราว ถ้าใคร อยากมาย้อนอดีต หรือนั่งคิดทบทวนเรื่องราว เหนื่อย ๆ มา บ้านนุ้ยเหมาะกับคุณ อย่างร้านอาหาร ถ้าใครอยากมากินอาหารทะเล อาหารเกาะพะงัน เรามีแบบนั้น แล้วก็ไม่เหมือนใครแน่นอนค่ะ
คุณชนินทร์: สำหรับคนไหนที่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกมองไม่เห็นจังหวะของชีวิต ไม่รู้ชีวิตจะไปทางไหน ทำอะไรต่อ ที่นี่มีความชัดเจนเรื่องจังหวะของชีวิต อย่าง Full Moon พอพระจันทร์เต็มดวงคนจะมีความสัมพันธ์กับท้องฟ้า คนจะออกมาเต็มท้องถนน เรือก็จะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว พอเลย Full Moon คนก็จะเริ่มหายใจออก ทยอยออกไปจากเกาะ ค่อย ๆ หายไป มันมี Rhythm มีจังหวะที่ชัดเจน บางทีความเหนื่อยที่เราอาศัยอยู่ในเมือง เกิดจากการที่เราอยู่ไปเรื่อย ๆ จนไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้ผ่อนคลาย ชีวิตเราจะคลี่คลายไปได้อย่างไร คนที่กำลังมองหาพื้นที่ที่ทำให้เราได้ทบทวน สังเกต เห็นจังหวะอะไรที่ชัดเจนมากขึ้น มีพื้นที่ มีเวลาให้ตัวเองได้มาสะท้อนว่ามันเกิดะอะไรขึ้น จังหวะของที่นี่ ธรรมชาติของเกาะจะช่วยโอบอุ้มเราให้เราได้คลี่คลาย เราอาจจะกลับไปแล้วมองเห็นอะไรชัดเจนขึ้นในชีวิตปกติ เกาะพะงันทำหน้าที่แบบนี้ให้หลาย ๆ คน ซึ่ง ถึงพะงัน กับ บ้านนุ้ย ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ช่วยคุณได้ ช่วยไกด์ว่าคุณควรจะทำอย่างไร ทำอะไรบ้างผ่านประสบการณ์ชีวิตของเราครับ
และนี่ก็คือเรื่องราวของ “ถึงพะงัน” และ “บ้านนุ้ย” ที่บอกเล่าเรื่องราวความผูกพันของคนต่างถิ่นซึ่งสุดท้ายมาลงหลักปักฐานสร้างบ้านบนเกาะพะงันได้เป็นอย่างดี Green Heart นักท่องเที่ยวหัวใจสีเขียว ไปเที่ยวเกาะพะงัน แบบใส่ใจ เที่ยวเกาะครั้งไหน อย่าลืมประหยัดน้ำ ไฟและใช้ทรัพยกรให้คุ้มค่ากันด้วยนะคะ ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ต้องร่วมมือกันทั้งเจ้าบ้านและแขกผู้มาเยือน
🚗 ถึงพะงัน Dear Phangan จ.สุราษฏ์ธานี: https://goo.gl/maps/yZ4Mrka9b76CYAAL6
⏰ มื้อกลางวัน/มื้อเย็น โทรจองเท่านั้น สามารถจองล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน
☎ เบอร์โทรศัพท์: 089-114-3302
🌐 Facebook: ถึงพะงัน Dear Phangan
🚗 บ้านนุ้ย – Baan Nuit จ.สุราษฏ์ธานี: https://goo.gl/maps/5hEu4gb9KsYGDbuMA
☎ เบอร์โทรศัพท์: 089-114-3302
🌐 Facebook: บ้านนุ้ย – Baan Nuit