แนวปฏิบัติที่ 1 มีการปรับปรุงหรือพัฒนาให้มีระบบการบริหารจัดการชุมชนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กรอบแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
- กำหนดนโยบาย มีปณิธาน และแบบงานที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม-วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ รวมทั้งการหลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปฏิบัติที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่สอดคล้องกับสถานะทางเศรษฐกิจของชุมชน
- เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ เช่นพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายควบคุมอาคาร ประกาศผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ เป็นต้น
- สมาชิกชุมชน หรือกลุ่มที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการท่องเที่ยว ได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ และทักษะในการปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และวิธีปฏิบัติที่หลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- สมาชิกของชุมชนหรือกลุ่มที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการท่องเที่ยว ถ่ายทอดความรู้ และ กระตุ้นให้สมาชิกชุมชนทั้งหมดมีส่วนร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมและมีการปฏิบัติที่หลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งจากการท่องเที่ยว และการประกอบอาชีพหลัก
- มีการแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ชุมชน (community zoning) เพื่อให้บริการทางกาท่องเที่ยว และการอนุรักษ์อย่างเหมาะสม
- หากจำเป็นต้องมีการก่อสร้างอาคาร และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการเพิ่มเติม จะต้องเน้นการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกลมกลืนกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ทั้งนี้โดยการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านเข้ามาผสมผสาน
- จัดให้มีกิจกรรมท่องเที่ยวที่ให้ความเพลิดเพลิน/สนุกสนาน และเปิดให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของชุมชนได้มากที่สุด และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
- มีการกำหนดขีดความสามารถการรองรับได้ทางการท่องเที่ยว (tourism carrying capacity) ของชุมชนทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวก (เช่น โฮมสเตย์ บริการอาหาร ฯลฯ) และข้อจำกัด ของชุมชนด้านอื่นๆ (เช่น ความเปราะบางของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การดูแลจัดการ ฯลฯ)
- สื่อที่ใช้ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับชุมชนมีความถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
- กำหนดระเบียบหรือข้อปฏิบัติของชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งนี้โดยการแจ้งหรือชี้แจงให้นักท่องเที่ยวรับทราบในโอกาสแรกที่เดินทางมาถึง
- มีข้อมูลหรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นคอยให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับชุมชนแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของคนในชุมชนอย่างเหมาะสมเพียงพอ
- มีการประเมิน/ตรวจวัดความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอพร้อมมีการแก้ไข/ปรับปรุงสิ่งที่จำเป็นตามความเหมาะสม
- มีการประเมินความสำเร็จของการดำเนินงานการท่องเที่ยวในชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ในระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นบทเรียนในการแก้ไข/ปรับปรุงการดำเนินงานหรือการปฏิบัติในโอกาสต่อไป
แนวปฏิบัติที่ 2 มีการปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในชุมชน และบริเวณโดยรอบ รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- มีการป้องกัน ตรวจสอบ และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ รวมทั้งจากผู้ประกอบการนำเที่ยว กิจกรรม และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
- ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาช่วยดำเนินการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ รักษา และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อมในชุมชนและบริเวณโดยรอบ เช่น การปลูกป่า ดูแลรักษาต้นน้ำ/ลำห้วย/แม่น้ำ ป้องกันไฟป่า เป็นต้น
- กรณีที่ชุมชนตั้งอยู่ในหรือแนวขอบเขตอุทยานแห่งชาติหรือพื้นที่อนุรักษ์ประเภทอื่นใดก็ตาม ต้องให้ความเคารพ และปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่ โดยเฉพาะกิจกรรมต่างๆ ของชุมชนต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ หรือสร้างผลกระทบน้อยที่สุดต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ
- ไม่นำทรัพยากรธรรมชาติที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ทั้งพืช สัตว์ และสิ่งไม่มีชีวิตอื่นๆ มาขายหรือผลิตเป็นของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว
- หลีกเลี่ยงการกักขังเลี้ยงดูสัตว์ป่า ยกเว้นกฎหมายจะอนุญาตแต่ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้อง และเหมาะสม สัตว์ป่าคุ้มครองหรือสัตว์ป่าหวงห้าม ก็ควรมอบให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นผู้ดูแลจัดการ
- สมาชิกชุมชนร่วมมือกันปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่น และช่วยดูดซับก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์บริเวณชุมชน พื้นที่เกษตรและแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภค
- ครัวเรือนในชุมชนลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถย่อยสลายได้หรือย่อยสลายยาก เช่น ถุงพลาสติก โฟม ฯลฯ และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก
- ครัวเรือนในชุมชนลดปริมาณการใช้พลังงาน หรือมีวิธีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพหรือใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะทางเศรษฐกิจ
- ครัวเรือนในชุมชนลดการใช้น้ำ หรือมีวิธีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดให้มีการเดินทางที่ปลอดมลภาวะสำหรับนักท่องเที่ยว หรืออาจจัดให้มียานพาหนะที่ไม่สร้างมลพิษ เช่น การใช้รถม้า จักรยาน สัตว์ต่าง เป็นต้น
- ครัวเรือนในชุมชนมีการบำบัดน้ำเสียและน้ำทิ้งที่มีประสิทธิภาพ เช่น มีบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีมาตรฐานก่อนปล่อยลงลำห้วย แม่น้ำ หรือทะเล และหากกระทำได้ก็นำน้ำที่บำบัดแล้วกลับมาใช้ในการเกษตรหรือทำความสะอาดครัวเรือนและเครื่องมือต่างๆ ทางการเกษตร
- ครัวเรือนในชุมชนมีการจัดการของเสียและขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การลดปริมาณของเสียและขยะให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะของเสียและขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก ไปจนถึงการแยกขยะและของเสียเพื่อกำจัดให้ถูกวิธี
- ครัวเรือนในชุมชนลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทุกชนิดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาฆ่าวัชพืช ยาฆ่าแมลง และปุ๋ยเคมีให้เหลือน้อยที่สุด และพยายามใช้วิธีการทางชีวภาพในการกำจัดวัชพืช และฆ่าแมลง
- ครัวเรือนในชุมชนเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากเศษเหลือของพืชผักหรือมูลสัตว์ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี และด้วยวิธีการนี้ยังมีส่วนช่วยลดก๊าซมีเทนอันเกิดจากเศษเหลือของพืชผัก และมูลสัตว์ด้วย
แนวปฏิบัติที่ 3 มีการปฏิบัติที่มุ่งเน้นการถ่ายทอด สืบสานและดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของท้องถิ่น
- ปราชญ์/ผู้รอบรู้ในท้องถิ่นถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมดั้งเดิม
- ประเพณีอันดีงามของเผ่าพันธุ์และภูมิปัญญาพื้นบ้านที่มีคุณค่าให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ได้ยึดปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง
- ชุมชนมีความภาคภูมิใจและหวงแหนในวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต โดยรวมใจกัน เพื่อสืบสานและรักษาวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งกลุ่ม/องค์กรขึ้นรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ เป็นต้น
- มีความเข้าใจและเกิดความตระหนักถึงการนำวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีดั้งเดิมมาใช้เป็นทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยว แต่ทั้งนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกชุมชน และกระทำด้วยความระมัดระวัง
- กิจกรรมท่องเที่ยวรวมถึงการแสดงต่างๆ ที่จัดให้นักท่องเที่ยวชมต้องสะท้อนถึงความเป็นจริงของวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของท้องถิ่น ควรหลีกเลี่ยงการแสดงใดๆ ที่อาจสร้างผลกระทบแก่จิตใจ หรือขัดต่อประเพณี หรือความเชื่อของคนในท้องถิ่น
- ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัส เรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด
- ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นผสมผสานกับศิลปะ และสถาปัตยกรรมพื้นบ้านในการออกแบบและตกแต่งอาคาร สถานที่ รวมถึงการจัดเตรียมอาหารและบริการอื่นๆ
แนวปฏิบัติที่ 4 มีการปฏิบัติที่มุ่งเน้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสภาพสังคม และเศรษฐกิจของชุมชนโดยรวม และก่อให้เกิดผลกระทบทางลบ น้อยที่สุด
- สมาชิกชุมชนมีความเข้าใจและตระหนักร่วมกันเสมอว่าการท่องเที่ยวเป็นเพียงอาชีพเสริมไม่ใช่อาชีพหลัก และยึดแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับ การท่องเที่ยว
- สมาชิกชุมชนมีส่วนเลือกและร่วมตัดสินใจในการวางแผนพัฒนา รวมทั้งรับผิดชอบการให้บริการทางการท่องเที่ยวตามความถนัด
- สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมกันจัดทำกฎเกณฑ์ หรือจรรยาบรรณสำหรับการปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว รวมทั้งการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
- มีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และมาตรฐานในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการให้บริการทางการท่องเที่ยวแก่สมาชิกชุมชนที่เกี่ยวข้อง โดยขอการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐหรือ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
- เน้นการใช้วัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่มาจากชุมชนในการให้บริการ หรือเป็นของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว เช่น อาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องหัตถกรรม การแสดง ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นต้น
- มีการจัดสรรรายได้และประโยชน์อื่นๆ จากการท่องเที่ยวให้แก่สมาชิกชุมชนด้วยความเป็นธรรม มีความโปร่งใส และสามารถเปิดให้มีการตรวจสอบได้
- มีการแบ่งสรรรายได้ส่วนหนึ่งที่เกิดจากการท่องเที่ยวไปทำเป็นโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน เช่น การศึกษา สุขอนามัย ความปลอดภัย เป็นต้น
แนวปฏิบัติที่ 5 มีการต้อนรับและบริการต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานและสะท้อนถึงความเป็นไทยที่ดี
- สมาชิกชุมชนแสดงออกถึงความมีไมตรีจิต และเอื้ออาทรต่อนักท่องเที่ยวในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านที่ดี
- สมาชิกชุมชนร่วมกันกำหนด และปฏิบัติตามกรอบจรรยาบรรณเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการต้อนรับ และให้บริการในเรื่องต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวนับตั้งแต่เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงชุมชน การนำนักท่องเที่ยวไปจนถึงการให้บริการที่พักและอาหาร
- สมาชิกชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งยุวอาสาสมัครนำเที่ยว หรือมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสามารถสื่อสารหรือใช้ภาษาต่างประเทศกับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้
- ยุวอาสาสมัครนำเที่ยว/มัคคุเทศก์ท้องถิ่นให้ข้อมูลหรือสื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ทั้งทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่นได้อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง
- ชุมชนมีมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยทั้งในชีวิต และทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวและสมาชิกชุมชนด้วยกันเอง
- การบริการต่างๆ ที่จัดให้แก่นักท่องเที่ยวมีมาตรฐานขั้นต่ำตั้งแต่เรื่องความสะอาด ความสะดวก และ ความปลอดภัย
- ค่าบริการต่างๆ ที่กำหนดขึ้น (เช่น ที่พัก อาหาร ของที่ระลึก ผลิตภัณฑ์อื่นๆ) ต้องกำหนดด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรมไม่เอาเปรียบนักท่องเที่ยว
- มีการเรียนรู้ เข้าใจ และตระหนักถึงความคาดหวังของนักท่องเที่ยวและปรับปรุงแก้ไขการบริการที่ยังบกพร่อง/ไม่สมบูรณ์อยู่เสมอ
- จัดให้มีการฝึกอบรมหรือส่งผู้ที่เกี่ยวข้องไปฝึกอบรมให้มีความรู้ ทักษะ และยกระดับมาตรฐานของการบริการด้านต่างๆ
- มีการรณรงค์ส่งเสริมให้สมาชิกชุมชนใช้เครื่องแต่งกายที่ออกแบบ และผลิตได้ในชุมชนและสะท้อนถึง วัฒนธรรม/วิถีชีวิตดั้งเดิม