การบริการสีเขียว (GREEN SERVICE)
“เลือกใช้บริการธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”รูปแบบการให้บริการของธุรกิจท่องเที่ยวแขนงต่าง ๆ ที่สร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวด้วยมาตรฐานคุณภาพที่ดี ควบคู่ไปกับการมีปณิธานและการดำเนินการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการให้บริการต่างๆ
หากใครที่เดินทางอย่างสม่ำเสมอจะสังเกตได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการทางด้านการท่องเที่ยวที่เห็นได้ชัดประการหนึ่งคือ การจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการการ์ดที่ขอความร่วมมือผู้เข้าพักในโรงแรม รีสอร์ทว่า หากต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็สามารถทำได้ เช่น หากไม่ต้องการให้พนักงานเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวผืนใหม่ก็สามารถทำได้โดยการไม่วางในจุดที่โรงแรมกำหนด การลดการใช้กระดาษชำระเท่าที่จำเป็น ฯลฯ หรือโรงแรมมีการใช้ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าพักส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องประหยัดทั้งๆที่เสียเงินสำหรับการบริการ กลับกลายเป็นว่าการที่ผู้ประกอบการใส่ใจกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่ากับว่าผู้ประกอบการมิได้ละเลยความรับผิดชอบกับเรื่องเหล่านี้
ซึ่งนโยบายของผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับแผนการสร้าง การบริการสีเขียว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเช่น ส่วนในรายละเอียดของการทำให้แหล่งท่องเที่ยว ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสร้างการบริการสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะประกอบไปด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติม / ดาวน์โหลดได้ด้านล่าง)
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวและวัฒนธรรม
แนวปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริการสีเขียว ทำได้โดยที่ให้บริการทางการท่องเที่ยวทุกแขนงที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมรดกทางวัฒนธรรมและสร้างผลกระทบน้อยที่สุดโดยการ
- ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานทางราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการป้องกันและบำรุงรักษาสถานที่และมรดกทางประวัติศาสตร์ โบราณคดีและวัฒนธรรม รวมทั้งสิ่งที่เป็นความเชื่อของท้องถิ่น
- หลีกเลี่ยงการซื้อขาย/แลกเปลี่ยนโบราณวัตถุและการจัดแสดงทางวัฒนธรรมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
- มีการตกแต่งสถานประกอบการด้วยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น โคมไฟเฟอร์นิเจอร์ เชิงเทียน เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงสิ่งประดับที่เป็นของเก่าและอาจผิดกฎหมาย เช่น พระพุทธรูป เศียรพระพุทธรูป เป็นต้น
- เลือกใช้สินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในการให้บริการแก่นักท่องเที่ยว เช่น อาหาร เครื่องดื่มต้อนรับ(น้ำสมุนไพร น้ำมะพร้าว ไวน์ผลไม้ ฯลฯ) การใช้จานชามดินเผา เครื่องจักสาน เป็นต้น
- ส่งเสริมการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนในท้องถิ่น และหลีกเลี่ยงหรือไม่อนุญาตให้มีการจัดแสดงใดๆ ที่อาจสร้างผลกระทบหรือขัดต่อประเพณีหรือความเชื่อของคนในท้องถิ่น
- สนับสนุนให้พนักงานต้อนรับและพนักงานบริการอื่นๆ แต่งกายด้วยชุดที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น
- ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด รวมถึงกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์มรดกเหล่านั้น
สำหรับผู้ประกอบการเรื่องที่พัก
แนวปฏิบัติที่ 1 ผู้ประกอบการที่ให้บริการทางการท่องเที่ยวทุกแขนงมีการพัฒนาหรือปรับปรุงระบบการบริหารจัดการธุรกิจและการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ โดย
- มีนโยบาย ปณิธาน และแผนงานที่ให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการหลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปฏิบัติที่เป็น
- เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย/อนุสัญญา/ข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎระเบียบในประเทศที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- บุคลากรหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้ และทักษะในการปฏิบัติเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงวิธีปฏิบัติที่หลีกเลี่ยง/ลดละ/ทดแทน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- มีการออกแบบ/ก่อสร้างอาคาร และระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการ สอดคล้องกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมโดยคำนึงถึงหลักการออกแบบ/ก่อสร้างที่ยั่งยืน (sustainable design/construction) และ เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุ เด็กเล็กและคนพิการสามารถใช้ได้อย่างสะดวกและปลอดภัย
- มีแผนและแนวทางปฏิบัติในการใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น เชื้อเพลิง ไฟฟ้า น้ำ ฯลฯ อย่างประหยัดและก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเชิงธุรกิจและการบริการ
- มีแผนและแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อสินค้า และการบริการที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
- มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยว ทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง รวมทั้งเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
- มีแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยใช้ประเด็นด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานบริการ
- การประชาสัมพันธ์และการตลาดต้องถูกต้องตรงกับความเป็นจริงทั้งหมด และต้องไม่สัญญาเสนอสิ่งหนึ่งสิ่งใด ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่สามารถกระทำได้จริง
- มีการประเมิน/ตรวจวัดความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว หรือผู้มาใช้บริการอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการแก้ไขปรับปรุงสิ่งที่จำเป็นตามความเหมาะสม
แนวปฏิบัติที่ 2 มีการปฏิบัติที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ
- มีการป้องกัน ตรวจสอบและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันเกิดตามธรรมชาติและจากการพัฒนาหรือก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและระบบสาธารณูปโภคในบริเวณสถานประกอบการอย่างสม่ำเสมอ เช่น การตัดต้นไม้ การพังทลายของดิน น้ำป่าไหลบ่า ความเสื่อมโทรมของชายหาด เป็นต้น
- ไม่ขยายขอบเขตของสถานประกอบการ ลุกล้ำพื้นที่สาธารณะประเภทต่างๆ เช่น พื้นที่ป่า ชายหาด ลำห้วย ลำธาร ทางเท้าหรือถนน เป็นต้น
- ใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นในการตกแต่งหรือฟื้นฟูภูมิทัศน์ (หลีกเลี่ยงการนำพืชต่างถิ่นเข้ามาปลูก)ในสถานประกอบการ
- การนำสัตว์มาใช้แสดงให้นักท่องเที่ยวชมจะต้องได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องและการเลี้ยงดูสัตว์ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
- ไม่นำทรัพยากรธรรมชาติที่หายากหรือกำลังสูญพันธุ์หรือมีแนวโน้มลดน้อยลง เช่น เปลือกหอย ปะการัง กล้วยไม้ป่า ฯลฯ มาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว
- ไม่มีการกักขังสัตว์ป่ายกเว้นกฎหมายจะอนุญาตและต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสม ถ้าเป็นสัตว์ป่าหวงห้ามหรือสัตว์ป่าคุ้มครองควรมอบให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเป็นผู้ดูแลจัดการแทน
- ให้การสนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่อนุรักษ์ประเภทต่างๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานประกอบการ
- มีการจัดซื้อสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยลดการใช้พลังงาน หรือปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด ประกอบด้วย
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์แบบที่เติมได้
- เลือกซื้อสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถส่งกลับคืนได้ เช่น ขวดแก้ว เป็นต้น
- เลือกซื้อสินค้าที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียวหรือมีฉลากคาร์บอน (ผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการ ผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อย) หรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ฯลฯ
- เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากเขียวหรือมีฉลากคาร์บอน (ผลิตภัณฑ์ที่มีกระบวนการ ผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณน้อย) หรือผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ฯลฯ
- เลือกซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม
- เลือกซื้ออุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน (เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟเบอร์5 หรือมีฉลากอัตราการใช้ไฟ เป็นต้น) และอุปกรณ์ที่ประช่วยหยัดน้ำ
- เลือกซื้อยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น รถที่ใช้เชื้อเพลิงไฮบริด ไบโอดีเชล เชื้อเพลิงที่เผาไหม้สะอาด เป็นต้น
- เลือกซื้อสินค้าที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมครบวงจร (สินค้าที่ดำเนินการควบคุม ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ การผลิต และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุแล้ว โดยไม่ให้เกิดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อม)
- มีการกำหนดให้ซื้ออาหารที่ผลิตได้ในท้องถิ่นตามแต่ละฤดูกาล เพื่อลดการใช้ พลังงานในการขนส่งและเก็บรักษา
- มีการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลในสถานประกอบการ การปฏิบัติต่างๆ ประกอบด้วย
- ใช้สินค้าหรือวัสดุภัณฑ์เป็นแพ็คใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้หีบห่อที่ไม่จำเป็น
- ใช้ผลิตภัณฑ์แบบที่ใช้หมดแล้วเติมใหม่ได้ (refillable products) แทนการทิ้งเป็นขยะ
- ใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติแทนการใช้ถุงพลาสติก หรือโฟม เช่น ใช้กระดาษแป้งข้าวโพด กระดาษแป้งมันสำปะหลัง เป็นต้น
- ลดและหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอย เช่น กาแฟ ชา น้ำตาล ครีมเทียม เครื่องปรุงรส ฯลฯ ที่บรรจุในซองขนาดเล็ก
- หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น แก้วพลาสติกช้อนส้อม พลาสติก ตะเกียบ เป็นต้น
- มีการใช้กล่องบรรจุอาหารแทนการใช้ฟิล์มพลาสติกห่ออาหาร
- มีการลดขยะเปียก เช่น การเก็บอาหารสดให้พอดีกับอายุ ทำอาหารให้มีปริมาณพอดี กับผู้บริโภค โน้มน้าวให้ลูกค้าบริโภคอาหารให้หมด เป็นต้น
- มีการจัดทำรายการขยะ และแยกขยะที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะเศษอาหาร ขยะอันตราย ขยะทั่วไป เป็นต้น
- มีการจัดทำถังสำหรับหมักขยะเปียก (หรือมอบให้ผู้อื่นนำไปจัดการ) เพื่อทำเป็นปุ๋ยหมักแล้วนำกลับมาใช้ในสนามหรือสวนภายในสถานประกอบการ
- มีการเก็บขยะบริเวณโดยรอบอาคารและบริเวณสนามหรือสวนอย่างสม่ำเสมอ
- มีการจัดการคุณภาพอากาศและเสียง ได้แก่
- จัดพื้นที่สูบบุหรี่แยกออกจากพื้นที่อื่นๆ และมีป้ายบอกอย่างชัดเจน
- จัดหาให้เช่าหรือให้บริการยานพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ลูกค้า เช่น จักรยาน เป็นต้น
- ป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอก โดยการปลูกต้นไม้เป็นฉนวนหรือสร้างกำแพงกั้น
- ตรวจสอบและควบคุมการเกิดมลพิษทางอากาศในส่วนต่างๆ ของสถานประกอบการ เช่น ห้องพัก ห้องครัว ห้องควบคุมความเย็น เป็นต้น
- มีการนำวัสดุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ ที่สำคัญ ได้แก่
- ใช้กระดาษทั้งสองหน้าในธุรกิจและการให้บริการ
- ใช้ถุงผ้า หลีกเลี่ยงหรือลดการใช้ถุงพลาสติก
- ใช้ถ่านแบบ Rechargeable กับเครื่องไฟฟ้า
- นำผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ฯลฯ ที่ไม่สามารถใช้ได้ต่อไปแล้วมาใช้ประโยชน์ เช่น ผ้าเช็ดถูทำความสะอาด เป็นต้น
- มีการประหยัดและการจัดการการใช้น้ำที่ดี ได้แก่
- มีการวิเคราะห์หารูปแบบ และประเภทการใช้น้ำหลักๆ ของสถานประกอบการ เพื่อหาแนวทางและวิธีประหยัดน้ำ
- มีการจดบันทึกค่าน้ำเป็นประจำทุกเดือน
- ทำการปิดวาล์วน้ำ เมื่อไม่ใช้งาน
- ทำความสะอาดโดยการปัดกวาดฝุ่นละออง เศษผงต่างๆ ออกก่อน แล้วจึงทำความสะอาด เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำและลดการปนเปื้อนของน้ำทิ้ง
- มีการสำรวจตรวจสอบ และทำการเปลี่ยนหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด หรือ เสื่อมสภาพที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปั๊มน้ำ ระบบการจ่ายน้ำ (เช่น ท่อประปา วาล์ว ก๊อกน้ำ) ระบบสุขภัณฑ์ (เช่น หัวฉีดชำระ ขอบยาง และ ลูกลอยชักโครก) เป็นต้น
- เลือกใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดน้ำ เช่น ก๊อกน้ำ โถชักโครก หัวฉีดชำระประหยัดน้ำ เป็นต้น
- ใช้น้ำในการจัดสวนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยออกแบบสวนให้กลมกลืนกับ สภาพแวดล้อมและมีความชุ่มชื่นเสมอ เลือกปลูกต้นไม้ที่ต้องการน้ำน้อย และมีการกำจัดวัชพืชเป็นประจำ
- นำน้ำจากการชำระล้างหรือน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น ใช้ทำความ สะอาดลานอเนกประสงค์ ใช้กับโถชักโครก ใช้รดน้ำต้นไม้ เป็นต้น
- มีการเก็บกักน้ำฝนไว้ใช้ในองค์กร
- มีมาตรการประหยัดน้ำในส่วนของห้องครัว และส่วนของห้องอาหาร เช่น
– หลีกเลี่ยงการล้างผักและผลไม้โดยวิธีปล่อยให้น้ำไหลผ่าน
– กำจัดคราบไขมันก่อนทำความสะอาดด้วยน้ำ
– น้ำดื่มที่เหลือในแก้วลูกค้าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ - มีการกำหนดการเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ฯลฯ เมื่อลูกค้าขอให้เปลี่ยน
- มีมาตรการประหยัดน้ำในส่วนสระว่ายน้ำ
- มีการใช้ระบบน้ำหยด /สปริงเกอร์/ฝักบัวรดน้ำต้นไม้แทนการใช้สายยาง
- มีการรดน้ำต้นไม้ในช่วงเวลาที่มีการระเหยต่ำได้แก่ช่วงเวลาเช้าและเย็น
- มีการนำน้ำที่เหลือจากกิจกรรมซักรีดกลับมาใช้ใหม่
- มีการบำบัดและจัดการน้ำเสียในสถานประกอบการ สิ่งที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
- มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน และ/หรือไม่มีการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณ
- มีการจัดการน้ำเสียเบื้องต้น (pre-wastewater treatments) ก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียเช่น ใช้สารลดคราบน้ำมันและจารบี ใช้ตะแกรงแยกเศษอาหารออกจากน้ำที่ใช้จากห้องครัว
- มีการแยกน้ำและน้ำมันออกจากกัน เป็นต้น
- มีการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติโดยใช้พืชหรือจุลินทรีย์ เช่น ใช้พืชดูดซับน้ำเสีย ใช้จุลินทรีย์ในการย่อยของเสียในน้ำ เป็นต้น
- มีการตรวจสอบระบบบ่อเกรอะ (septic tank) เป็นประจำ (อย่างน้อยทุกๆ ปี)
- <มีถังบำบัดน้ำเสียสำรอง/li>
- มีการประหยัดและจัดการการใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ควรปฏิบัติ ประกอบด้วย
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ใช้จักรยานแทนการใช้รถยนต์ เป็นต้น
- มีการใช้ระบบขนส่งมวลชน และ/หรือการใช้รถร่วมกัน (car pooling)
- มีการตรวจสอบปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงต่อวัน /สัปดาห์/เดือนของสถานประกอบการ เพื่อทราบถึงปริมาณการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองและที่สามารถประหยัดได้
- มีการวางแผนการเดินทางขององค์กร เช่น หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีการจราจรคับคั่ง หาเส้นทางที่เหมาะสมเพื่อลดระยะทางในการเดินทาง เป็นต้น
- มีตารางการบำรุงรักษารถยนต์ และเครื่องยนต์ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
- มีการใช้เครื่องยนต์ที่มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เช่น เลือกใช้เครื่องยนต์ขับเคลื่อน 4 สูบ ที่ประหยัดน้ำมัน ลดการเกิดมลพิษไฮโดรคาร์บอน และเสียงเบา เป็นต้น
- มีการใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น น้ำมันไบโอดีเซล แก๊สธรรมชาติ หรือรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
- มีการประหยัดและจัดการการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย
- มีการแจกแจงประเภทและรูปแบบการใช้พลังงานไฟฟ้าของสถานประกอบการ เพื่อหาแนวทางและวิธีการประหยัดพลังงานไฟฟ้า
- มีตารางติดตามการใช้ไฟฟ้าเป็นประจำ (เช่น ประจำสัปดาห์ หรือประจำเดือน) เพื่อ ทราบถึงปริมาณการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองและที่สามารถประหยัดได้
- มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น พัดลม มอเตอร์ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ที่มีขนาดเหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจ
- มีตารางการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า (เช่น พัดลม มอเตอร์ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด) เช่น การทำความสะอาดเป็นประจำ เป็นต้น
- มีการลดความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าของสถานประกอบการ ในช่วงเวลาที่มีค่าไฟฟ้าแพง
- มีวิธีการใช้เครื่องปรับอากาศอย่างเหมาะสม
- มีวิธีการใช้ไฟฟ้าเพื่อระบบแสงสว่างอย่างเหมาะสม
- มีการประหยัดไฟฟ้าจากการใช้เครื่องใช้สำนักงานอย่างถูกต้อง เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องโทรสาร เป็นต้น
- มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพ เช่น หลอดไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
- มีวิธีการใช้ระบบทำความร้อนอย่างเหมาะสม โดย
– การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้อุ่นน้ำที่ป้อนเข้าสู่หม้อไอน้ำ (solar co- generation) ในการทำน้ำอุ่น
– มีการใช้ก๊าซ LPG ในการทำความร้อนแทนการใช้ Heater ไฟฟ้า
– มีการนำความร้อนจากระบบปรับอากาศมาใช้ใหม่
– มีการตั้งค่าอุณหภูมิความร้อนที่เหมาะสม
– มีการหุ้มฉนวนท่อไอน้ำป้องกันการสูญเสียความร้อนไปในอากาศ
– มีการใช้ผ้าเช็ดมือแทนเครื่องเป่ามือ
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปั่นผ้าแห้งหากไม่จำเป็น
- มีระบบคีย์แท็กประหยัดไฟฟ้า (ช่วยควบคุมการจ่ายไฟฟ้าในห้องพัก)
- ในกรณีที่มีลิฟต์ สถานประกอบการมีการประหยัดไฟฟ้าจากการใช้ลิฟต์โดย
– กำหนดให้ลิฟต์หยุดเฉพาะชั้น เช่น หยุดเฉพาะชั้นคี่ เป็นต้น
– มีการปิดลิฟต์บางจุดในช่วงที่มีการใช้งานน้อย เช่น เวลากลางคืน เป็นต้น
– รณรงค์ให้ใช้บันไดแทนลิฟต์ในกรณีที่ขึ้นลงน้อยชั้น
– รณรงค์ให้กดปุ่มเรียกลิฟต์เพียงครั้งเดียว
- มีการใช้พลังงานทดแทนในองค์กร เช่น การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลมพลังงานชีวมวล เป็นต้น
- มีการจัดการสารเคมีและสารอันตราย ประกอบด้วย
- มีการจัดทำรายการสารอันตรายที่มีการเก็บและใช้งานอยู่ในปัจจุบันและมีการตรวจสอบจำนวนอย่างสม่ำเสมอ
- มีคู่มือความปลอดภัยในการใช้งานและแสดงข้อมูลพื้นฐานที่ต้องทราบเกี่ยวกับสารอันตราย ผลกระทบต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่ตามมาเมื่อมีการใช้สารอันตรายเหล่านั้น
- มีการจัดระบบการจัดเก็บสารเคมีอย่างปลอดภัย เช่น มีการติดป้ายชื่อสารเคมี บรรจุหีบห่ออย่างแน่นหนาและกำหนดรายการสารที่ต้องเก็บไว้เฉพาะที่ เป็นต้น
- มีการตรวจสอบว่าสารอันตรายได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ตามกฎหมาย เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง LPG แอมโมเนีย เป็นต้น
- มีการตรวจสอบและรักษาสภาพการใช้งานของเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศให้มี การปล่อยก๊าซ CFC และ HCFC น้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือสารอันตรายในสถานประกอบการ เช่น
– เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารฟอกขาวในปริมาณน้อย (เช่น กระดาษชำระ ตะเกียบ เป็นต้น)
– มีการหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ยากำจัดวัชพืช
– มีการใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมีในการบำรุงสวน
– มีการใช้พืช (ตะไคร้หอม) หรือสารสกัดจากธรรมชาติ ฯลฯ ในการกำจัดแมลงรบกวน (ยุงแมลงวัน แมลงต่างๆ) แทนการใช้สารเคมี
– ผู้ประกอบการในธุรกิจที่พักมีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้านสังคม และเศรษฐกิจแก่ชุมชนโดยรอบและสร้างผลกระทบทางลบน้อยที่สุด
แนวปฏิบัติที่ 3
- ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นโดยส่วนรวม เช่น การศึกษาสุขอนามัย น้ำอุปโภค-บริโภค ความสะอาด เป็นต้น
- ให้การสนับสนุนแก่ชุมชนท้องถิ่นที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตท้องถิ่นทั้งในรูปตัวเงินและวัสดุอุปกรณ์
- มีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นในการกำหนดทิศทางและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
- ให้การสนับสนุนแก่ชุมชน จัดทำกฎกติกาหรือจรรยาบรรณสำหรับการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานในชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน
- สนับสนุนชุมชนให้ได้รับการฝึกอบรมด้านความรู้และทักษะการบริหารจัดการและให้บริการทางการท่องเที่ยวรวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถขายเป็นสินค้า/ของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของชุมชน เช่น อาหาร/เครื่องดื่ม เครื่องหัตถกรรม ศิลปะการแสดง เป็นต้น
- มีการจ้างงานโดยคนท้องถิ่นเข้าทำงานในสถานประกอบการในหน้าที่ต่างๆ และจัดให้มีการฝึกอบรม เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะตามความจำเป็น
- ให้ความเท่าเทียมเสมอภาคในเรื่องการจ้างงานโดยเฉพาะผู้หญิง และชนกลุ่มน้อย หลีกเลี่ยงการใช้แรงงานเด็ก
- ให้ความเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน/คุ้มครองแรงงานและจ่ายค่าจ้างในอัตราที่เพียงพอกับการดำรงชีวิต
- รับซื้อสินค้าจากท้องถิ่นเท่าที่สามารถจะกระทำได้ และให้ราคาที่เป็นธรรม
- มีการใช้บริการของชุมชนท้องถิ่น เช่น ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ที่พัก พาหนะขนส่ง มัคคุเทศก์ท้องถิ่น เป็นต้น
- การให้บริการพื้นฐานแก่นักท่องเที่ยวในสถานประกอบการ เช่น น้ำอุปโภค ไฟฟ้า สุขอนามัยความปลอดภัย ฯลฯ ต้องไม่สร้างความเดือดร้อนหรือเป็นปัญหาต่อชุมชนใกล้เคียง
ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดในธุรกิจการท่องเที่ยว หากนำสิ่งเหล่านี้ไปปฏิบัติก็สามารถสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยวได้ นอกเหนือจากการบริการที่มีมาตรฐานและมีคุณภาพ
สำหรับนักท่องเที่ยว
นักท่องเที่ยวที่ต้องการสร้างหัวใจสีเขียวสามารถปฏิบัติได้ด้วยการ ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ ด้วยการ
- ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวทั้งทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อม กิจกรรม ผลกระทบและปัญหาของการจัดการจากเอกสารข้อมูลก่อนออกเดินทางและระหว่างที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบของแหล่งท่องเที่ยวและเชื่อฟังเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าแหล่งท่องเที่ยวนั้นมีระบบนิเวศที่สำคัญและเปราะบาง หรือมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีสูง หรือเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเก่าแก่น่าศึกษาเรียนรู้
- ทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลตามประเภทในที่ที่จัดให้ และหากสามารถนำขยะและสิ่งปฏิกูลออกจากแหล่งท่องเที่ยวไปจัดการเองได้ ก็จะช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น
- เลือกใช้ยานพาหนะในแหล่งท่องเที่ยวที่ประหยัดพลังงานหรือใช้พลังงานทดแทน และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด
- ถ้าเลือกเดินทางโดยใช้บริการจากบริษัทนำเที่ยวให้เลือกโปรแกรมหรือรายการนำเที่ยวที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวน้อยที่สุด
- ตั้งเต็นท์พักแรมในบริเวณที่จัดให้เท่านั้น
- ควรเดินตามเส้นทางที่จัดให้ ไม่ควรเดินลัด เพราะอาจเหยียบย่ำกล้าไม้ ลูกไม้ และ ก่อให้เกิดการกัดชะพังทลายของดินเร็วขึ้น
- ละเว้นการให้อาหารสัตว์ป่าทุกชนิด เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ผิดไปจากธรรมชาติ
- ละเว้นการสัมผัสหรือแตะต้องตัวสัตว์ป่า
- ไม่ซื้อชิ้นส่วนของสัตว์หรือโบราณวัตถุ หรือสินค้าที่ทำจากสัตว์ หรือพืชที่หายาก หรือกำลังสูญพันธุ์ เช่น กระเป๋าหนังหรือขนสัตว์ กระดองหอย และเต่าทะเล เป็นต้น
- ไม่เก็บรวบรวมซากพืชซากสัตว์ เปลือกหอย ก้อนหิน และอื่นๆ มาเป็นสมบัติของตัวเอง
- แจ้งถึงการฝ่าฝืนหรือกระทำผิดกฎระเบียบของแหล่งท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวอื่นให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบรับทราบ
- ไม่แสดงกริยาท่าทาง หรือใช้คำพูดที่ส่อไปในทางลบหลู่ ไม่ให้ความเคารพต่อวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น
และทั้งหมดนี้ หากทุกภาคส่วนสามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางที่กล่าวมา เราก็สามารถหวังได้ว่า เราก็สามารถร่วมปกป้องสภาพแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยวอย่างถูกต้องและจริงจัง เพื่อที่จะคืนสีเขียวสู่โลกของเราอย่างแท้จริง
สำหรับเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว
แนวปฏิบัติของผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนำเที่ยวทำได้โดยการ แสดงออกถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่น รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน ด้วยการ
- ปรับปรุงหรือพัฒนานโยบาย และปณิธานขององค์กร ที่สะท้อนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานประกอบการ
- ปรับปรุงหรือพัฒนาแผนการดำเนินงานของสถานประกอบการ ให้เป็นไปตามนโยบายและปณิธาน ตามที่ระบุในข้อ 1
- ปรับปรุงหรือหรือพัฒนากรอบจรรยาบรรณให้บุคคลากรในสถานประกอบการ ได้ยึดถือและนำไปปฏิบัติเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในสถานที่ประกอบการ
- เคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว และความเชื่อของท้องถิ่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
- จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติและข้อปฏิบัติสำหรับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสถานประกอบการ และแหล่งท่องเที่ยว
สำหรับชุมชนเจ้าของพื้นที่
แนวปฏิบัติที่ 1 สร้างการรับรู้ และความตระหนักถึงผลกระทบของการท่องเที่ยวต่อ โบราณสถาน โบราณวัตถุ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่นให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการผลิตสื่อรูปแบบต่างๆ การประชุมสัมมนา เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
แนวปฏิบัติที่ 2 สร้างการรับรู้ และความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือภาวะโลกร้อนที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และผลกระทบของการท่องเที่ยว ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน และแนวทางปฏิบัติที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกชนิดต่างๆ
แนวปฏิบัติที่ 3 ผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแสดงออกถึง ความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยวทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่น รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน โดยการปฏิบัติ
- ปรับปรุงหรือพัฒนานโยบาย และปณิธานของชุมชน ที่สะท้อนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแหล่งท่องเที่ยว
- ปรับปรุงหรือพัฒนาแผนการดำเนินงานของชุมชน ให้เป็นไปตามนโยบายและปณิธานตามระบุในข้อ 1
- ปรับปรุงหรือหรือพัฒนากรอบจรรยาบรรณให้บุคคลในองค์กร ได้ยึดถือและนำไปปฏิบัติเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในชุมชนเคารพและปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของแหล่งท่องเที่ยว และความเชื่อของท้องถิ่นที่มีต่อสิ่งแวดล้อม
- จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติและข้อปฏิบัติสำหรับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในชุมชน
สำหรับเจ้าของธุรกิจสปา
ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจบริการ Spa สามารถแสดงออกด้วยการปฏิบัติคือ การเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของท้องถิ่น รวมทั้งการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน เช่น
- ปรับปรุงหรือพัฒนานโยบาย และปณิธานขององค์กร ที่สะท้อนถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ปรับปรุงหรือพัฒนาแผนการดำเนินงานขององค์กร ให้เป็นไปตามนโยบายและปณิธาน ตามระบุในข้อ 1
- ปรับปรุงหรือพัฒนากรอบจรรยาบรรณให้บุคคลากรในสถานประกอบการ ได้ยึดถือและนำไปปฏิบัติเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานที่ประกอบการ