หลายคนอาจจะกำลังมองหาสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองรอง ที่จะสามารถสนุกสนานไปกับบรรยากาศผ่อนคลายสบายในแบบท้องถิ่น และได้สัมผัสวิถีชุมชนแบบดั้งเดิม ยิ่งหลายหมู่บ้านทั่วไทยมีการวางแนวทางเพื่อใช้ชีวิตกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ยิ่งน่าเก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าแล้วออกไปเที่ยว
หลังจากเลือกอยู่นาน จุดหมายของเราก็มาจบลงตรงเมืองระนอง หมู่บ้านเล็กกระจิ๋วหลิววิวบ้านไม้ บรรยากาศสุดเรียบง่าย ขนาบสองข้างมัสยิดหลังน้อย เสาบ้านปักอยู่ในทะเล เป็นภาพแรกของบ้านแหลมนาว หมู่บ้านสุดปลายแหลมในเขตตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง ไร้ถนนเข้าถึง มีเพียงเรือเท่านั้นที่ใช้เป็นพาหนะหลักในการเดินทาง ชาวแหลมนาวจึงผูกพันกับทะเลแบบไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ในวันที่ทั้งโลกตื่นตัวกับเรื่องของการลดผลกระทบของกิจกรรมจากมนุษย์ที่ส่งผลต่อธรรมชาติ คือวันที่วิถีชีวิตแสนธรรมดาของคนบ้านแหลมนาวปฏิบัติมาจากรุ่นสู่รุ่น ถูกเรียกด้วยคำใหม่ว่า “การประมงเชิงอนุรักษ์”
นานมาแล้ว..คนที่นี่ตระหนักรู้ว่าทรัพยากรทางทะเลที่พวกเขาใช้อยู่นั้นมีคุณค่ามากเพียงใด กว่า 20 ปี ที่ชาวบ้านร่วมกันตั้งกฎ และมีการตกลงร่วมกันในเรื่องของการจับสัตว์น้ำที่จะไม่ทำลายวงจรชีวิตของสัตว์ทะเล เช่น หากจะจับกุ้งมังกรนั้นห้ามใช้วิธีดำน้ำลงไปล่าตัวจากซอกหิน ซึ่งต่างจากที่อื่นๆ ในประเทศไทย วิธีเดียวที่สามารถทำได้คือวางอวนตาห่าง แล้วรอให้กุ้งโชคร้ายว่ายมาติดอวนเอง ส่วนบรรดาลูกกุ้งก็จะอยู่รอดปลอดภัยในบ้านของมัน เมื่อมีข้อกำหนดของหมู่บ้านว่าอวนที่ใช้ต้องเป็นอวนตาห่าง แต่ห่างเท่าไหร่ละถึงจะเรียกได้ว่าอนุรักษ์ตามแนวคิดของคนที่นี่ พี่ๆ ชาวแหลมนาวเลยกำหนดตาอวนให้กว้าง 4 – 4 ½ นิ้ว ซึ่งใหญ่กว่ามาตรฐานที่กรมประมงกำหนดไว้นะเออ ฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าทั้งลูกกุ้ง ลูกปู ลูกปลาจะไม่ติดมากับอวนของชาวบ้านแหลมนาวแน่นอน สบายใจได้
นอกจากไม่จับสัตว์น้ำก่อนวัยอันควรแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านทำควบคู่กันไปคือ การเพิ่มประชากรสัตว์ทะเล อย่างเช่น หอยชักตีน เป็นสัตว์ทะเลอีกอย่างหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชาถึงความหวานอร่อย และการจับจะจับเฉพาะหอยใหญ่ ส่วนหอยตัวน้อยเอาตัวฝังโคลนไว้จะได้ขยายพันธุ์ต่อ แต่นั่นอาจยังยั่งยืนไม่ได้ดังใจ คุณพิเชษฐ์ ภักดี หรือผู้ใหญ่โกบ ผู้ใหญ่บ้านนักคิดจึงเริ่มหาแนวทางที่จะให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยว มากินอาหารทะเล ได้ช่วยกันต่อยอด และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ เขาจึงมีความคิดง่าย ๆ คือเมื่อนักท่องเที่ยวได้กินหอยอร่อยแบบจุใจแล้ว ชาวบ้านจะชักชวนให้นักท่องเที่ยวมาร่วมกันปล่อยพันธุ์หอย โดยซื้อพันธุ์หอยชักตีนจากบ่ออนุบาลของหมู่บ้าน และพาไปทำกิจกรรมสนุกด้วยการลุยโคลน พาน้องกลับสู่บ้านเกิดของเขาในป่าชายเลน มาคราวหน้าหอยที่นักท่องเที่ยวกินไปหนึ่งกิโลกรัม อาจขยายเป็นสอง สาม สี่กิโลกรัมในธรรมชาติ
แม้ว่าตอนนี้เรื่องดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดเริ่มต้น แต่ผู้ใหญ่โกบมั่นใจว่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นจริงได้ และถ้าเกิดขึ้นจริง ชาวบ้านจะไม่จำเป็นต้องรอพันธุ์หอยจากกรมประมงที่นำมาปล่อยเพียงปีละครั้ง แต่จะทำให้ชาวบ้านมีทุนกองกลางสำหรับจัดหาพันธุ์หอย พันธุ์ปู มาปล่อยเพื่อขยายจำนวนให้มากพอ และไม่ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล
สำหรับปู หากชาวบ้านได้ปูที่มีไข่ฟู ๆ อยู่ใต้กระดองติดอวนมา สิ่งที่ต้องทำคือนำไปไว้ในกระชังธนาคารปูในอ่าวหน้าหมู่บ้าน และเมื่อถึงเวลาออกมาดูโลก ลูกปูนับพันตัวก็จะเริงร่าออกจากไข่ ว่ายน้ำลอดรูตาข่ายของกระชัง แล้วเติบโตเป็นแหล่งอาหาร สร้างรายได้ต่อไป
หมู่บ้านแหลมนาว เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 3 แม้เวลาจะผ่านล่วงเลยมาสองร้อยปี แต่ป่าสมบูรณ์อันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแหลมสนก็ไม่ถูกบุกรุกแผ้วถาง ไม่ว่าจะเป็นยุคก่อนประกาศพื้นที่อุทยานฯ หรือยุคปัจจุบัน มีบ้างที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากพืชในผืนป่าเพื่อดำรงชีพ แต่หากถามว่ากระทบกับวงจรของธรรมชาติหรือไม่ อาจตอบได้ว่าน้อยมากจนธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านอย่างวัวและควาย ถูกเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ หากินอยู่ในทุ่งหญ้าใจกลางแหลมนาว โดยไม่มีการกั้นเขต หรือแตะต้องเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติใด ๆ ฝูงควายบ้าน วัวบ้าน นานวันก็เริ่มปรับตัวจนในปัจจุบันกลายเป็นสัตว์ป่าที่มีสัญชาตญาณระวังภัยสูง รอบทุ่งหญ้าเต็มไปด้วยสัตว์ป่าขนาดเล็ก ทั้งลิง หมูป่า กวาง ฯลฯ ซึ่งทุกชนิดมีสัญชาตญาณป่าอย่างเต็มเปี่ยม เห็นคนเมื่อไหร่ เป็นต้องวิ่งหนีเข้าชายป่าหายวับไปกับตา ที่เป็นแบบนี้เพราะเกิดจากข้อห้ามของหมู่บ้าน คือห้ามให้อาหารสัตว์ป่าอย่างเด็ดขาด เมื่อชุมชนอยู่ใกล้ป่า สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคือ “ไม่เปลี่ยนแปลงธรรมชาติ หรือเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด”
ผลจากการรักษาสภาพแวดล้อม ส่งผลให้น้ำทะเลบริเวณรอบแหลมนาวสะอาดมากกว่าบริเวณอื่น ๆ จนสามารถพบเห็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ในธรรมชาติ อย่างเช่น “จักจั่นทะเล” สัตว์ขนาดเล็กตระกูลเดียวกับกุ้ง ฝังตัวอยู่ใต้ผืนทรายของชายหาด ซึ่งในประเทศไทยถือว่าเป็นสัตว์ทะเลที่หายากยิ่ง และพบเห็นได้น้อยลงทุกวัน จนเริ่มเข้าสู่สถานะสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ ปัจจุบันยังพบได้ที่หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต และบางจุดของชายฝั่งทะเลพังงา และระนอง จักจั่นทะเลเป็นสัตว์ที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่สะอาด และปราศจากมลพิษทางน้ำ ฉะนั้นหากสภาพของน้ำเปลี่ยนแปลง พวกมันก็ไม่สามารถอยู่ได้
แม้การทำประมงอย่างยั่งยืน และการร่วมกันดูแลธรรมชาติจะเป็นเรื่องง่ายของคนที่นี่ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาที่ยังต้องพยายามแก้ไขคือเรื่องขยะ ซึ่งหมู่บ้านเองมีแนวทางการจัดการขยะที่วางเอาไว้แล้ว อาทิ ขยะแก้ว ขวดน้ำ ขวดพลาสติก และเศษวัสดุอื่น ๆ จะคัดแยกเพื่อส่งขึ้นฝั่ง ส่งไปโรงงานรีไซเคิลขยะ และรายได้จากการขายขยะจะเก็บเข้ากองทุนกลางของหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ในเรื่องการจ้างคนขนขยะอาทิตย์ละ 1 ครั้ง ส่วนขยะเศษอาหารจะนำมาใช้เลี้ยงไก่ เลี้ยงแพะ และบางส่วนนำไปเป็นอาหารของปู ปลา
ดูไปแล้วเหมือนหมู่บ้านจะจัดการปัญหาในพื้นที่ได้อย่างไม่น่ามีปัญหานี่นา แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับไหลตามน้ำมาจากชายฝั่ง พื้นที่ระหว่างแหลมนาวและแผ่นดินใหญ่จะเป็นร่องน้ำของอ่าว ในตำบลนาคา คลองเกือบทุกสายที่ไหลผ่านเมืองมีปลายทางอยู่ที่อ่าวแห่งนี้ ขยะจำนวนมากจึงไหลมาติดที่ชายหาดของหมู่บ้าน สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านไม่น้อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน เมื่อมีน้ำหลากจากภูเขา สายน้ำจะพาขยะจากเมืองไหลลงสู่ทะเลมากกว่าปกติ
ชาวบ้านแหลมนาวจึงต้องรับหน้าที่คนเก็บขยะจำเป็น ต้องคอยสะสางปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ แต่ถ้าจะปล่อยให้ขยะไหลออกทะเลไป ชาวบ้านก็ทำใจไม่ได้ เพราะนั่นคือแหล่งอาหารและที่สถานที่ทำงานของพวกเขา จึงเป็นเรื่องยากในการแก้ปัญหา เพราะต้นเหตุอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ คนมักง่ายเหล่านั้นจึงไม่เห็นผลกระทบที่ตัวเองก่อ
หมู่บ้านประมงเล็กๆ แห่งนี้ อาจเป็นสถานที่ที่อยู่นอกสายตาของนักท่องเที่ยว หรือห่างไกลจากความรู้จักแม้แต่คนในจังหวัดระนองเอง ความตั้งใจของผู้ใหญ่บ้านที่ต้องการสร้างฐานะให้ลูกบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าด้วยรายได้จากการท่องเที่ยว โดยนำวิถีประมงเชิงอนุรักษ์มาเป็นตัวชูโรง เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด และสนุกเพลิดเพลินกับกิจกรรม ลองทำ ลองสัมผัส วัฒนธรรมของชาวเล โดยยึดหลักเคร่งครัด คือต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงวิถีดั้งเดิม และไม่สร้างผลกระทบกับสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ รวมถึงการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการรักษาและต่อยอด ล้วนเป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับหลายๆ ชุมชนที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
สำหรับนักเดินทางที่สนใจไปเที่ยว หรือพักแบบโฮมสเตย์ นอนกางมุ้งรับลมทะเลที่บ้านแหลมนาว สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/ranong99/
ขอบคุณรูปภาพจาก Facebook : การท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านแหลมนาว จังหวัดระนอง