35.38 ล้านคน คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวเมืองไทยในปีที่ผ่านมา นี่ยังไม่นับรวมคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวไปสู่จุดหมายต่าง ๆ ทั้งวันหยุดยาว เสาร์อาทิตย์ หรือแม้กระทั่งโดดงานไปเที่ยวกันในวันธรรมดา แต่ทว่าทำไมหลาย ๆ พื้นที่ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก คนท้องถิ่นยังบ่นอุบ ตัวเลขรายได้ประเทศพุ่งกระฉูดแต่ไม่ค่อยตกสู่ชุมชน และดัชนีความสุขของคนท้องถิ่นกลับสวนทาง เห็นแบบนี้เลยเกิดคำถามว่า “การท่องเที่ยวมันช่วยชุมชนจริงหรือ” หรืออันที่จริงแล้วเราแค่ขาดการจัดการที่ดี
พูดกันตามจริงทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยวของไทยนั้นมีคุณภาพและสวยงามทั้งธรรมชาติ วัฒนธรรม อาหาร อัธยาศัยผู้คนล้วนแต่เป็นสิ่งที่ดึงดูดให้เกิดการเดินทางไปเยี่ยมเยือน แต่ถ้าปล่อยให้นักท่องเที่ยวไหลเข้าพื้นที่โดยไม่มีการจัดการที่ดี รับรองว่าเจ้าบ้านอย่างท่านจะพบแต่ปัญหาชวนปวดหัวอย่างแน่นอน ฉะนั้นปัญหาป้องกันได้ต้องเริ่มจากชุมชน มาดูวิธีง่ายๆ ที่ชุมชนทำได้ เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
ข้าคือเพชรยอดมงกุฎ
สิ่งแรกที่ชุมชนต้องเรียนรู้ คือ “เรามีดี” ทุกท้องถิ่น ทุกหมู่บ้านล้วนมีศักยภาพ แต่ส่วนคนใหญ่มักจะมองว่าบ้านตัวเองไม่มีอะไร ผักก็ปลูกเป็นเรื่องปกติ หมกฮวก (หมกลูกอ๊อด) ก็กินเป็นประจำ หรือแม้กระทั้งขุดรูหาปูนา มันน่าสนใจตรงไหน แต่อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากในเมือง ซึ่งวิถีชีวิตประจำวันไม่มีอะไรแบบนี้ให้เขาได้สัมผัสแม้แต่น้อย ฉะนั้นทุกสิ่งที่ดูธรรมดา ทุ่งนาเขียวหลังบ้านที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนั้นแหล่ะคือแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่นำมาพัฒนาให้นักท่องเที่ยวได้สนุกไปกับวิถีบ้านๆ ของเราได้ โดยต้องรู้จักการรวมตัวรวมกลุ่มกัน แล้วประชุมหารือ ระดมความคิด
อาจแบ่งการท่องเที่ยวในชุมชนออกเป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มอาชีพ ความถนัด หรือความพร้อม เช่น บ้านไหนมีพื้นที่เพียงพออาจจะเปิดเป็นโฮมสเตย์และจุดเรียนรู้เรื่องอาหารท้องถิ่น บ้านไหนทอผ้าก็อาจมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ลองเลี้ยงไหม พาไปเก็บใบหม่อน สาวไหม หรือลองทอผ้า ส่วนกลุ่มที่ทำเกษตรก็สร้างกิจกรรมขึ้นมาจากงานที่เราทำนี่แหล่ะทั้งปลูกผัก เก็บผัก ดำนา จับปลา เลี้ยงสัตว์ ทุกอย่างสามารถเอามาทำเป็นไฮไลท์สนุกๆ ได้หมด ที่สำคัญคือต้องกำหนดทิศทางร่วมกันว่าจะรับนักท่องเที่ยวมาน้อยแค่ไหน โดยจะต้องไม่เกินกำลังและกระทบต่อวิถีที่เป็นอยู่
ต้องไม่หยุดพัฒนา
แน่นอนล่ะ ชุมชนจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องเรียนรู้จากปัญหาและพัฒนา เริ่มจากหน่วยเล็กที่สุดนั่นก็คือ “คน” ควรส่งเสริมความรู้การเป็นไกด์ท้องถิ่น เพื่อบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกต้องของชุมชน สามารถแนะนำ และดูแลนักท่องเที่ยวอย่างมีหลักการ อันจะช่วยลดผลกระทบด้านลบและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้นักท่องเที่ยว โดยสามารถขอคำปรึกษาได้ทั้ง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานราชการท้องถิ่นอย่าง อบต.
คนในชุมชนต้องช่วยกันคิด วิเคราะห์ วางแผนทั้งเรื่องโปรแกรมเที่ยว การต้อนรับ การสร้างเส้นทางท่องเที่ยวที่ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกสัมผัสในหลาย ๆ แง่มุม รวมไปถึงออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวให้เกี่ยวโยงกับจุดหมายหลักที่อยู่ใกล้เคียง พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เรียนรู้การจัดการกับขยะและของเสีย เช่น นำขวดพลาสติกที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวมาพัฒนาเป็นของแต่งบ้าน สานเป็นกระเป๋า ที่รองแก้ว หรือนำไปขายให้โรงงานรีไซเคิล หรือแม้กระทั้งเศษอาหารก็สามารถนำมาต่อยอดเป็นคอร์สสอนนักท่องเที่ยวทำปุ๋ยหมักก็ย่อมได้
ที่สำคัญรายได้ที่เกิดขึ้นจะต้องมีการจัดการที่ดี อาจตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารรายได้ ส่วนหนึ่งเก็บเข้ากองกลางใช้พัฒนาหมู่บ้านในทุกๆ เรื่อง เช่น สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวแต่ต้องไม่กระทบต่ออัตลักษณ์และวิถีชุมชน อาจนำมาจ้างนักพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนเพื่อให้ตรงกับความต้องการและรสนิยมของนักท่องเที่ยว ส่วนที่เหลือนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลสร้างรายได้พิเศษให้กับสมาชิก
หาช่องทางสร้างการตลาด
ยุคนี้ไม่ว่าจะขายอะไรก็ต้องใช้การตลาดนำ การท่องเที่ยวของชุมชนก็เช่นเดียวกัน การตลาดต้องเดินนำหน้า เพราะท้องถิ่นบ้านเราก็คือสินค้าทางการท่องเที่ยวอย่างหนึ่ง เราต้องรู้ก่อนเลยว่าเราเหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มไหน เช่น ถ้าชุมชนทำการเกษตร มีการทอผ้า ทำงานฝีมือ ก็อาจไม่เหมาะกับนักเดินทางสายลุย แต่ต้องมุ่งจับกลุ่มคนที่ชอบวิถีท่องเที่ยวเนิบช้า หรือถ้ามีทั้งวัฒนธรรมและธรรมชาติ ป่าเขา ก็อาจจับได้ทั้งสองกลุ่ม
ไม้แท่งเล็ก ถ้าอยู่เดี่ยวๆ ก็หักได้ง่ายด้วยมือเปล่า แต่ถ้ามัดรวมกันก็ยากที่จะหักได้ ท้องถิ่นก็เช่นกัน ต้องสร้างเครือข่ายชุมชน สานสัมพันธ์กับชุมชนข้างเคียงหาจุดเด่นที่แตกต่างร่วมกัน สร้างเส้นทางท่องเที่ยวให้ใหญ่และกว้างขึ้น นักท่องเที่ยวมาเยือนชุมชนน้อง น้องก็แนะนำต่อให้ไปสนุกกับกิจกรรมอีกรูปแบบหนึ่งที่ชุมชนพี่ เป็นการตลาดแบบง่าย ๆ ที่เกิดจากการบอกต่อ ช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้สึกคุ้มค่า อาจเกิดการบอกต่อ และกลับมาเที่ยวซ้ำ
เพื่อประสิทธิภาพที่มากกว่า ควรสร้างช่องทางการขายผ่านบริษัทนำเที่ยว โดยต้องยืนยันว่าเราต้องการรับนักท่องเที่ยวที่เน้นสัมผัสชุมชน อาจต้องปรับโปรแกรมหรือกิจกรรมบางอย่างเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มที่มักจะใช้เวลาสั้นๆ แต่ต้องไม่เปลี่ยนอัตลักษณ์ตนเองหรือเอาใจนักท่องเที่ยวจนชุมชนเสียศูนย์
ลงมือทำเอง ทุกวันนี้หมู่บ้านส่วนใหญ่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ดังนั้นช่องทางสื่อโซเชียลเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพสูง ลุงๆ ป้าๆ อาจต้องเรียนรู้การสร้างเรื่องราวหรือสร้างเนื้อหาที่โดนใจกลุ่มเป้าหมาย ที่ปรึกษาที่ดีที่สุดก็คือลูกหลานของท่านนั้นแล ที่จะเป็นคนช่วยส่งสารและเติมความร่วมสมัยให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนได้ ที่สำคัญ ทุกสารที่ส่งออกไปต้องสะท้อนความเป็นตัวตนและยืนยันให้ได้ว่าเรามีดี และมีความมุ่งมั่นให้นักท่องเที่ยวนั้นได้มาสัมผัสความงามของวิถีสามัญธรรมดาอันน่าหลงใหล และมีความสุขกลับไปแบบยั่งยืน