ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีหลายหน่วยงานออกมารณรงค์ให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม ลดใช้พลาสติก งดการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดไม่เป็นที่ ก่อเกิดมลพิษต่อสัตว์โลกและระบบนิเวศโดยรวม ผู้คนเริ่มหันมาสนใจกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม บางคนถึงขั้นลงลึกกรรมวิธีการผลิตหรือรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ว่าบริษัทนั้นใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมแค่ไหน กระทบมากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบการหลายคนหันมาประกอบ ‘ธุรกิจสีเขียว’ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ใช่ว่าทั้งหมด เพราะภาพของธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมตามมาด้วยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากในบางกิจกรรม ส่งผลให้ตัวเลขที่ควรจะเป็นสีเขียว กลายเป็นแดงเสียดื้อ ๆ การลงทุนสำหรับธุรกิจสีเขียวจึงมักกลายเป็นแนวทางของธุรกิจรายใหญ่ แต่สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่อยากเปลี่ยนธุรกิจให้เอื้อต่อสิ่งแวดล้อม แต่เม็ดเงินไม่อำนวย ลองดูวิธีตามนี้ รับรองทำได้ชัวร์
อะไรคือ ‘ธุรกิจสีเขียว’
ธุรกิจสีเขียว หมายถึง บริษัท หรือองค์กรภาคธุรกิจ ที่มีความตั้งใจดำเนินธุรกิจของตนโดยไม่ปรารถนาให้เกิดผลกระทบเชิงลบใด ๆ ต่อสภาพแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็นต่อท้องถิ่น ชุมชน หรือสังคมรอบข้าง และยังหมายถึง การไม่สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อระบบเศรษฐกิจ มีหลักการ นโยบาย และหน้าที่ที่คำนึงถึงความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้คำ 3 คำ คือ คน โลก และผลประโยชน์
จากนิยามนี้ คร่าวๆแล้วไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจแบบใด สเกลเล็ก หรือใหญ่ขนาดไหน ก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจสีเขียวได้ ขอยกตัวอย่างธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรายหนึ่งที่ทำธุรกิจสีเขียวมาตั้งแต่เริ่มต้น ‘John Gray’s Sea Canoe’ เป็นบริษัททัวร์เกาะในจังหวัดภูเก็ตที่ราคาสูงมาก เมื่อเทียบกับทัวร์อื่น ลักษณะทัวร์ เป็นการเที่ยวแบบอนุรักษ์ พายเรือแคนูชมเกาะแก่งต่างๆ ในอ่าวพังงา บางจุดเงียบสงบและไร้นักท่องเที่ยวเข้าถึง ระหว่างทางมีการให้ความรู้เรื่องชั้นหิน และพืชพันธุ์ เส้นทางก็มีตั้งแต่เที่ยวแบบครึ่งวัน ไปจนถึงทริปยาว ๆ 7 วัน กินข้าวอาบน้ำบนเรือ กางเต็นท์นอนบนเกาะกลางทะเล
นอกจากโปรแกรมทัวร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว เรือทุกลำในบริษัท ยังเป็นเรือประมงของชาวบ้านในพื้นที่ ขนาดกลาง 2 ชั้น ชั้นบนใช้เป็นส่วนรับแขก ด้านล่างเป็นห้องครัว และที่เก็บเรือแคนูและคายัค จอห์น เจ้าของบริษัท John Gray’s Sea Canoe ให้เหตุผลว่า แม้การมีเรือเป็นตัวเองนั้นประหยัดกว่า แต่เขาอยากให้รายได้กระจายสู่ชุมชน ไม่ได้กองอยู่ที่นายทุนผู้เดียว ไกด์และพนักงานทุกคนล้วนเป็นชาวบ้านในพื้นที่ ที่จอห์นฝึกฝนให้จนชำนาญ สามารถหารายได้เลี้ยงชีพเพิ่มเติมได้ ทว่าสิ่งที่ผู้เขียนชอบมากที่สุดคือ ขยะ ระหว่างพายเรือเลาะเกาะแก่ง ถ้าลูกเรือคนใดเห็นขยะลอยอยู่ก็จะเก็บจากทะเลขนขึ้นเรือไปทิ้งบนฝั่ง มีการแยกประเภทขยะเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็น ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะรีไซเคิล
หลากวิธีง่ายๆ ที่ทำให้ธุรกิจเราเปลี่ยนเป็นสีเขียว
1. สำรวจแผนการทำงาน
วิธีการง่ายๆ แต่เป็นเรื่องพื้นฐาน คือการกลับไปดู ‘ขั้นตอนการทำงาน’ หรือ ‘Process Map’ สำรวจดูว่ามีขั้นตอนใดบ้างที่เราปรับเปลี่ยนได้ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ เช่น จากที่เคยระบายน้ำทิ้งผ่านระบบบำบัดน้ำเสียรุ่นเก่า ก็เปลี่ยนเป็นรุ่นใหม่ ที่สะอาดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า หรือลดขั้นตอนบางอย่างที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งการสำรวจขั้นตอนพวกนี้จะทำให้คุณสามารถมองเห็นภาพรวมของธุรกิจ และแนวทางที่จะไปได้ในอนาคต
2. ลองควบคุมทรัพยากร
ควบคุมทรัพยากรในที่นี้รวมไปถึงทรัพยากรมนุษย์ด้วย ลองหาทางควบคุมการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เช่น หากคุณทำธุรกิจโรงแรม จะทำอย่างไรให้แขกใช้เครื่องใช้ส่วนตัวในห้องพักซ้ำ สำหรับลูกค้าที่พักเกิน 1 คืน ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน หรือนำมาใช้ซ้ำ รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือกมาเป็นปัจจัยการผลิต เพื่อให้แน่ใจว่าการผลิตหรือการดำเนินธุรกิจนั้นมีการใช้ทรัพยากรต่างๆ ในปริมาณที่เหมาะสม ไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมนั่นเอง แถมยังประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
3. ลองหาพันธมิตรเป็นชุมชน หรือคนในพื้นที่
แม้ว่าส่วนใหญ่การทำธุรกิจจะให้ความสำคัญกับพันธมิตรที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน แต่เราแนะนำให้คุณลองหาพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งเป็นคนในท้องที่หรือชุมชนดู นอกจากจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น สร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งแล้ว ยังเป็นการสร้างความร่วมมือให้เกิดในพื้นที่ที่อาจจะนำมาสู่การปรับเปลี่ยนการดำเนินการต่างๆ ที่ลดรายจ่าย เพิ่มรายรับให้ทั้งกับธุรกิจ และท้องถิ่นไปพร้อมๆกัน
4. ให้ความสำคัญกับช่องทางการจำหน่าย และการนำเสนอแก่ลูกค้า
วิธีการทั้งหมดจะไม่ได้ผลเลย ถ้าขาดการประชาสัมพันธ์ที่ดี เมื่อคุณลองปรับเปลี่ยนตามวิธีการข้างต้นแล้ว ก็อย่าลืมนำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้ลูกค้าฟัง ให้เขารู้ว่าคุณรักษ์โลกอย่างไรบ้าง และเป็นมิตรกับชุมชนอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าให้แก่ธุรกิจ และปรับภาพลักษณ์ให้ธุรกิจของคุณกลายเป็นธุรกิจสีเขียวมากขึ้น ซึ่งการสร้างการรับรู้มีตั้งแต่การเล่าเรื่อง หรือไม่ก็เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านทางชุมชนให้คนพื้นที่เป็นคนช่วยเล่า ช่วยบอกในสิ่งที่เขามีส่วนร่วม เท่านี้ธุรกิจของคุณก็กลายเป็นธุรกิจสีเขียวได้ง่าย ๆ แล้ว