ไม่อาจปฏิเสธว่าการออกเดินทางท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในสิ่งทีทุกคนปรารถนา เพราะช่วยเติมเต็มและบรรเทาทุกข์จากชีวิตแสนน่าเบื่อของการทำงานในเมืองใหญ่ ตั้งแต่องค์การสหประชาชาติประกาศให้ ปี ค.ศ. 2002 เป็น “The International Year of Ecotourism” ผ่านสื่อ Offline อย่าง Medias  กระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ก็ดูเหมือนจะพุ่งพรวด และกระจายสู่หลายประเทศทั่วโลก แต่พอล่วงเลยมาถึง ค.ศ. 2018 คนรุ่นใหม่ต้องการสื่อสารด้วยอะไรที่เร็วกว่านั้น สื่อโซเชียลจึงทำให้กระแสท่องเที่ยวพัดกระพือไปทุกหัวระแหง ทุกคนสามารถสร้างเพจท่องเที่ยว อินสตาแกรมท่องเที่ยว ช่องยูทูปของนักเที่ยว หลายคนสร้างคอนเทนต์ได้น่าสนใจ จนมีคนติดตามหลักแสนราย เมื่ออิทธิพลของสื่อโซเชียลมีกำลังแรงขนาดนี้ จะเป็นไปได้ไหมที่จะสร้างกระแสการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักเดินทางรุ่นใหม่

 

เริ่มแรกมาดูก่อนว่าท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์คืออะไร ด้วยคอนเซ็ปต์ที่กำหนดไว้โดย International Ecotourism Society อันดับแรกคือ ต้องลดผลกระทบจากการเดินทาง ต่อมาคือ ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ  ต้องสร้างประสบการณ์ด้านบวกทั้งกับนักท่องเที่ยวและเจ้าของพื้น ส่วนรายได้ที่เกิดขึ้นต้องมีการนำไปใช้เพื่อการอนุรักษ์ และกลับคืนสู่ท้องถิ่น สุดท้ายเมื่อนักท่องเที่ยวมาแล้วต้องสนุก ซาบซึ้งถึงวัฒนธรรม ผู้คน และธรรมชาติ จนเกิดความตระหนักว่าต้องรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ให้นานที่สุด

 

เมื่อรู้หลักเบื้องต้นแล้ว สิ่งแรกที่ต้องทำถ้าอยากเป็นผู้ส่งสารการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน คือ “เลียนแบบ” แต่ไม่ใช่ “ลอกแบบ” คิดง่าย ๆ เด็กเติบโตทางความคิดเพราะเกิดการเรียนรู้จากผู้ใหญ่ สิ่งที่ดีที่สุดคือการศึกษาจากสื่อ คน หรือสถานประกอบการที่ประสบความสำเร็จด้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือเอเจนซี่ท่องเที่ยวในโมร็อกโค Journey Beyond Travel (JBT) ส่วนในประเทศไทย ตัวอย่างที่น่าสนใจคือกลุ่ม Local Alike ทั้งสองที่ใช้วิธีดึงจุดเด่นของชุมชนมานำเสนอ นักท่องที่ยวได้ใกล้ชิดกับคนในชุมชนจริง ๆ

 

ได้พูดคุยกับคนท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งลองใช้ชีวิตแบบคนท้องถิ่น มีการต่อยอดจากรายได้ที่ไหลสู่ชุมชน ไปใช้ในเรื่องของการศึกษา วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม มีทีมงานคอยสร้างคอนเทนต์เพื่อแชร์เรื่องราวของชุมชน ที่มีความเรียบง่าย แต่อบอุ่น ผ่านสื่อโซเชียล อีกกลุ่มที่มีการทำงานที่น่าสนใจมากคือ JTB กลุ่มนี้มีการสร้างเพจและเว็บไซต์ให้เป็นชุมชนของนักท่องเที่ยวเหมือนกับ “สมาคมศิษย์เก่า” ให้ทุกคนมารวมตัวพูดคุย แชร์ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ของการเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เมื่อกิจกรรมเหล่านี้ได้รับการส่งต่อผ่านสื่อโซเชียล กลุ่มเพื่อนของนักท่องเที่ยวดังกล่าวก็เริ่มหันมาสนใจและออกเดินทางแบบอนุรักษ์เช่นกัน ถ้าผู้ประกอบการ หรือนักเดินทางช่างเล่าทั้งหลายอยากทำบ้าง จะเริ่มจากตรงไหนดีละ

 

พูดสิพูด

 

พูดในที่นี้เกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเขียนบล็อก ภาพถ่าย และวิดีโอคลิป แต่สิ่งที่สำคัญที่นักเดินทางมองหาก็คือ ประสบการณ์จริงจากผู้สร้างคอนเทนต์ ฉะนั้นเล่าไปเลยจ๊ะ ไม่ว่าจะพบเจออะไรมา ทั้งดีและไม่ดี ดึงจุดเล็ก ๆ อย่างคำพูดของคนท้องถิ่น ความคิดจากคนในชุมชนที่เราได้ไปเยือน ไอเดียการจัดการสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งอาหารบ้านๆ หนึ่งจาน คุณอาจลงลึกไปถึงวัตถุดิบเฉพาะถิ่น ที่แสดงตัวตนของพื้นที่ที่คุณต้องการโปรโมท ผู้รับสารอาจเกิดความอยากลิ้มลอง อยากมีประสบการณ์แบบนี้บ้าง แถมยังเป็นการสร้างความไว้ใจในข้อมูลจนเกิดการเที่ยวตามรอย หรือมาใช้บริการนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของคุณและชุมชนอีกด้วย

 

 

แชร์ แชร์ แชร์

 

การแบ่งปันไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ แนวคิด ล้วนมีอิทธิพลต่อการสร้างทัศนคติของนักเดินทางยุคใหม่ ฉะนั้นถ้าเห็นอะไรที่ดีและน่าสนใจจากการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของนักเดินทางทั้งหลายที่โพสต์ลงในโลกโซเชียล ก็จงแบ่งปันให้คนอื่นได้เห็น ด้วยการ “แชร์” เพราะการเดินทางท่องเที่ยวแบบเชิงลึกใกล้ชิดชุมชน ท่องเที่ยวแบบจิตอาสา ท่องเที่ยวแบบรักษ์ธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นมากมาย และนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ภูมิใจในการเดินทางสีเขียว จึงบอกเล่าเรื่องราวท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ลงสื่อออนไลน์อยู่เสมอ และเราเองก็สามารถทำได้เช่นกัน

 

 

พวกเราเหล่ามาชุมนุม

 

อ่านหัวข้อปุ๊บ อาจนึกว่าให้ทำกิจกรรมรอบกองไฟ แต่ไม่ใช่! คำว่า “ชุมนุม” ในที่นี้คือการรวมตัวของคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน และเมื่อเรามีสื่อโซเชียลในมือ เราก็สร้างชุมชนของคนเหล่านี้ขึ้นมาเลยสิ อาจด้วยการตั้งกระทู้พูดคุย ถกเรื่องราวการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเสน่ห์ท้องถิ่น เปิดโอกาสให้เอาท้องถิ่นของตัวเองมาอวด รับรองว่าคนยินดีที่จะอวดท้องถิ่นตนเอง และแง่มุมของการท่องเที่ยวสีเขียวอันน่าภูมิใจแน่นอน ผู้ให้บริการท่องเที่ยวอาจแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ หรือมีโครงการอะไรที่ทำไว้กับชุมชน มาอัพเดท นักท่องเที่ยวจะได้เห็นว่าเงินที่เขาจ่ายไปมันช่วยชุมชนและเกิดประโยชน์ด้านการอนุรักษ์จริงๆ อาจสร้างทริปเฉพาะกิจขึ้นมาเลย มีปราชญ์ชาวบ้านนำเที่ยว มีกิจกรรมที่สอนทำโดยชาวบ้าน หรืองานจิตอาสาอย่างช่วยกันปลูกป่า ทำฝาย แล้วชักชวนคนเข้าร่วม คนเหล่านี้คือพลังสำคัญที่จะช่วยคุณโปรโมทการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเลยล่ะ

 

สร้างเรื่องราวด้วยมือคุณเอง

 

จากหลากหลายวิธีด้านบนจะมีส่วนช่วยชักชวนคนให้มาสนใจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้มากโข แต่ถ้าคุณได้ลงมือสร้างเรื่องราวจากคน วัฒนธรรมในชุมชน หรือธรรมชาติของจุดหมายที่คุณได้ไปเยือน หรือโปรแกรมทัวร์ของคุณจัดเป็นประจำอยู่แล้ว ย่อมน่าสนใจกว่า อาจทำเป็นคลิปสัมภาษณ์ไกด์ท้องถิ่นสั้นๆ คลิปโชว์การทำน้ำตาลมะพร้าวอินทรีย์ ภาพอินโฟกราฟฟิกของสมุนไพรในอาหารประจำท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ประเภท How to เช่น เที่ยวอย่างไรให้เกิดขยะน้อยที่สุด ก็ล้วนทำให้คนหันมาสนใจสื่อท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของคุณมากขึ้นเท่านั้น

 

จะเห็นได้ว่าการชักชวนให้คนหันมาเที่ยวเชิงอนุรักษ์นั้นไม่ยาก แต่สิ่งที่ต้องทำคือเราต้องเป็นนักเดินทางและผู้ให้บริการท่องเที่ยวสีเขียวตัวจริง และพร้อมที่จะแบ่งปันเรื่องราวการเดินทางเหล่านั้นด้วยความภาคภูมิใจ รวมถึงพร้อมเสนอไอเดียใหม่ๆ เพราะนักเดินทางรุ่นใหม่มักหลงใหลในเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังสถานที่ ยิ่งถ้าคุณดึงรายละเอียดเล็ก ๆ หรือแง่มุมความใส่ใจในการอนุรักษ์แม้เพียงเล็กน้อยออกมาเล่าได้มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้มีคนอยากช่วยคุณโปรโมททริปท่องเที่ยวสีเขียวมากขึ้นเท่านั้น