นักท่องเที่ยวจากหลากวัฒนธรรม จะรับมืออย่างไรดีนะ?
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารายได้จากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เมืองไทยมหาศาล ในหนึ่งปีเรามีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมความงามของเมืองไทยจากทั่วโลกมากถึง 60 ล้านคน ที่มาจากทุกเชื้อชาติ ศาสนา และต่างจุดมุ่งหมาย เมื่อคนต่างชาติต่างภาษาต่างวัฒนธรรมมาอยู่รวมกัน เราจะมีวิธีการรับมืออย่างไรให้การเยี่ยมเยือนนั้นได้ทั้งความประทับใจกลับไป พร้อมๆกับกิจกรรมท่องเที่ยวนั้นส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวให้น้อยที่สุด
จำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวไม่ให้มากเกินไปดูซิ
หากคุณกำลังเวียนหัวกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่ล้นเกินแหล่งท่องเที่ยวของคุณจะรับไหว จนคุณหวั่นใจว่าจะทำให้สถานที่ท่องเที่ยวเสื่อมโทรมเร็วกว่าที่ควร แนะนำว่า ‘ลองจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวดู’ เพราะคนเยอะ ปัญหาก็เยอะตาม นอกจากนั้นการให้บริการก็ทำได้ไม่เต็มที่ จนทำให้หลายสิ่งอย่างดูจะเกินควบคุมไปเสียหมด แม้จำนวนนักท่องเที่ยวมหาศาลจะสร้างผลกำไรให้เรา แต่เมื่อเทียบกับทรัพยากรที่เสียไป บวกลบคูณหารในระยะยาว จากตัวเลขสีเขียวๆ อาจกลายเป็นตัวแดงเสียดื้อๆ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ที่หากเสียหายแล้วจะฟื้นฟูกลับมานั้นยากยิ่ง ฉะนั้น การควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้พอเหมาะย่อมดีกว่า ไม่ต้องรอให้รัฐจัดการ แต่เราสามารถจำกัดปริมาณด้วยตนเองได้ นึกถึงความยั่งยืนให้มากกว่าผลประโยชน์ประเดี๋ยวประด๋าว ปริมาณและคุณภาพก็สอดคลองคล้องในทิศทางเดียวกัน จนส่งผลดีทั้งด้านจำนวนเงินเข้ากระเป๋า นักท่องเที่ยวได้รับการดูแลทั่วถึง ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมไม่ถูกทำลาย วิน-วินทุกฝ่าย
แจ้งข้อปฏิบัติล่วงหน้า แล้วอะไรๆจะดีขึ้น
ในการท่องเที่ยวเรามักเจอปัญหาสารพัดอย่างจากพฤติกรรมย่ำแย่ของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะไม่เป็นที่ (ปัญหานี้เป็นทั้งไทยและเทศ) การหยิบจับและทำลายปะการังเพื่อนำติดตัวกลับบ้านเป็นของที่ระลึก ให้อาหารปลาตามธรรมชาติจนระบบนิเวศเสีย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แก้ไขได้ โดยการให้ข้อมูล แจ้งข้อพึงปฏิบัติที่ถูกต้องต่อนักท่องเที่ยว ว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดควรหลีกเลี่ยง ทั้งยังต้องมีบทลงโทษสำหรับบุคคลที่ฝ่าฝืน อาจจัดทำเป็นคู่มือมอบให้ตั้งแต่นักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ และตอกย้ำอีกครั้งเมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางถึงสถานที่ นอกจากให้คำแนะนำก่อนการเยี่ยมชมแล้ว ไกด์เองยังต้องควบคุมดูแลลูกทัวร์ให้ปฏิบัติตามอย่างทั่วถึง ไม่ปล่อยทิ้งขว้าง หรือเป็นตัวชักนำให้นักท่องเที่ยวฝ่าฝืนกฎเสียเองอย่างที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้นเรื่องแบบนี้ผู้ประกอบการเองก็ต้องเอาใจใส่ สร้างนโยบายชักจูงให้บุคลากรเข้าใจผลดีผลเสียที่จะตามมาอย่างแจ่มแจ้ง และควบคุมดูแลการกระทำของไกด์ด้วย
ทิ้งขยะในมือท่านลงถังเถอะครับ
วลีนี้ยังใช้ได้ดีเสมอในทุกกิจกรรมระหว่างการท่องเที่ยว เพราะทุกกิจกรรมของมนุษย์ล้วนก่อให้เกิดขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก ที่กว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลานานเป็นร้อยปี ฉะนั้นมัคคุเทศก์จะต้องดูแลลูกทัวร์ให้ทิ้งขยะเป็นที่ อย่าทิ้งขว้างลงสู่สิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นไปได้ ผู้ประกอบการเองควรเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ เช่น ภาชนะแบบนำกลับมาใช้ใหม่ กล่องข้าวจากกล่องโฟมเป็นกล่องกระดาษ หรือภาชนะมีฝาปิดสำหรับเก็บอาหารเหลือกลับบ้านได้ จัดเตรียมถังขยะที่การคัดแยกประเภทขยะ เพื่อสะดวกต่อการจัดการให้เหมาะสม
ความเข้าใจแก้ปัญหาทุกสิ่ง
คำว่า ‘ความเข้าใจ’ มิได้หมายความว่าให้คุณเห็นอกเห็นใจนักท่องเที่ยวไปหมดทุกอย่าง แต่อยากให้คุณเข้าใจถึงพื้นฐานทางสังคม วัฒนธรรม และความคิดของนักท่องเที่ยวให้ลึกซึ้ง เนื่องจากคนแต่ละชนชาติ ย่อมมีพื้นฐานการใช้ชีวิตต่างกัน มีความคิดเหตุและผลต่างกันไปด้วย เช่น ทำไมนักท่องเที่ยวชาวจีนชอบพูดจาเสียงดัง ทำไมคนอินเดียถึงชอบจัดการแต่งงานแบบเอิกเกริก ทำไมชาวฝรั่งเศสดูเหมือนเย่อหยิ่ง ฯลฯ หากเราเข้าใจพื้นฐานและความนึกคิดโดยรวมของชนชาตินั้นๆ เราจะสามารถหาวิธีรับมือได้ถูกต้องและเหมาะสม เรื่องจุกจิกกวนใจจากความไม่เข้าใจกัน จะได้ผ่อนหนักเป็นเบา ต่างฝ่ายต่างก็มีความสุข
ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางง่ายๆ ที่คุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ในธุรกิจท่องเที่ยวของคุณ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจนำเที่ยว ที่พัก หรือผู้ประกอบการในแวดวงท่องเที่ยวอื่นๆ อย่าลืมว่า ทุกอย่างที่เราต้องการให้เกิดการปฏิบัติต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจ แล้วการท่องเที่ยวก็จะประสบความสำเร็จ และสร้างประทับใจไปพร้อมๆกัน