รู้หรือไม่!! ปี 2015 มลพิษที่เกิดในดิน  น้ำ และอากาศ  คร่าชีวิตมนุษย์เราได้มากถึง 9 ล้านคน! ยังไม่นับรวมถึงภัยพิบัติ ต่างๆ ซึ่งบางส่วนเป็นผลกระทบมาจากการกระทำของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม  รู้อย่างนี้แล้ว ก็เรียกได้ว่าถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนแปลง! โดยเริ่มได้จากองค์กร หรือหน่วยงานที่เราทำงานอยู่นี่แหละ มาจัดสรรพื้นเพื่อเพิ่มพลังงานดีๆ ลดพลังงานลบให้หมดไป และนี่คือ 7 วิธีลัด สู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม

 

1. ให้ความรู้พนักงานในการบริหารจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง

 

หมั่นฝึกอบรมบุคลากรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากร พลังงาน และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดเป้าหมายการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า เช่น ลดปริมาณขยะ ลด และ เลิก ใช้สารเคมีอันตราย  ลดการใช้เอกสาร  ต้นเหตุของคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกที่กระทบไปทั่วโลก

 

 

2. ตั้งเป้าสู่สำนักงานสีเขียว (Green Office)

 

สร้างความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากร  พลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดสรรพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ให้เป็นสัดส่วน  ไม่ให้อยู่ใกล้ช่องหน้าต่าง ประตู  หรือบริเวณที่เป็นช่องดูดอากาศเข้าสู่ตัวอาคาร จัดเก็บวัสดุประเภทสารเคมีอย่างมิดชิด รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทคู่ค้าที่มีนโยบายในเรื่องของการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน  ส่วนโรงแรมหรือโรงงานใหญ่ๆ  สามารถควบคุมมลพิษได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีขจัดมลพิษ (Cleaner Technology) ในการติดตามคุณภาพน้ำ และลดการปล่อยมลพิษ

 

3. หมั่นตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมและจัดการมลพิษ

 

เมื่อมีการวางระบบแนวคิดแล้ว อันดับต่อไปคือการเลือกใช้วัสดุหรือครุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ ด้วยการพัฒนามาตรฐานเครื่องมือและกลไกในการจัดการมลพิษที่เหมาะสมกับองค์กรนั้นๆ การพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการมลพิษอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้ระบบการจัดมลพิษมีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง

 

 

4. มาปลูกต้นไม้ภายในองค์กรกันเถอะ


ข้อดีของต้นไม้ 1 ต้น สามารถช่วยลดมลพิษมากกว่าที่คุณคิด เช่น  ต้นมะม่วง 1 ต้น สามารถดูดซับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้13.3 ก.ก./ปี ลองคิดว่าถ้าคุณมีพื้นที่สัก 1 ไร่ ก็จะสามารถปลูกมะม่วงได้ราว  45  ต้น เท่ากับสามารถดูดมลพิษได้มากถึง1948.5ก.ก./ปี  นอกจากต้นมะม่วงแล้ว ยังมีต้นไม้ที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อีก นั่นคือ ต้นไทร ต้นลีลาวดี และต้นแสงจันทร์  รวมถึงช่วยลดอุณหภูมิรอบอาคาร และเพิ่มออกซิเจนให้พวกเรา และจะดีมากขึ้นคือ ผลผลิตเก็บกินได้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง

 

 

5. ยึดหลักการ 3R หรือ 5R

 

5.1 R : Reduce ลดการบริโภคทรัพยากรที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เช่น  น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และแร่ธาตุต่าง ๆ พนักงานร่วมกันปิดหน้าจอคอมพิวเตอร์  ปิดไฟ และเครื่องปรับอากาศช่วงเวลาออกไปรับประทานอาหารกลางวัน  ใช้วิธีเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟท์  ช่วยประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง

 

5.2 R : Reuseใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด โดยการใช้ซ้ำ เช่น นำกระดาษที่พรินต์แล้ว สามารถนำมาใช้หน้าที่เหลือ มีผลให้ลดปริมาณการตัดต้นไม้ลง

 

5.3 R : Recycle นำขยะย่อยสลายได้ยาก เช่น แก้ว,กระดาษ,โลหะ,พลาสติก ไปผ่านกระบวนการผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่
เพิ่มเติมด้วย Repair และ Refill

 

5.4 Repair  รู้จักซ่อมแซมสิ่งของที่ยังพอแก้ไขได้ให้สามารถใช้งานได้ต่อ

 

5.5 Reject พยายามเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตราย และหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากธรรมชาติ  เช่น ยาฆ่าแมลง น้ำยาขัดพื้น หรือสารเคมีอื่นๆ เป็นต้น

 

6. ลดปริมาณขยะมูลฝอยภายในองค์กร

 

กรมควบคุมมลพิษได้มีโครงการนำร่องเกี่ยวกับการลดปริมาณขยะในองค์กรไปแล้ว  ส่วนพวกเราค่อยๆตามไปก็ได้ แต่ขอให้เริ่มเลยตั้งแต่วันนี้!

 

6.1 การคัดแยกขยะตามประเภทของขยะ  ได้แก่ ขวดพลาสติกใส พลาสติกอื่น ๆ เช่น หลอดกาแฟ ขวดพลาสติกขุ่น  ถ้วยน้ำดื่ม
อลูมิเนียม อาทิ หูกระป๋อง หรือ ฝาเครื่องดื่ม  สามารถนำไปบริจาคเพื่อใช้ทำขาเทียมได้ กล่องดื่มยูเอชทีนำไปรีไซเคิลเป็นหลังคาเขียว ในโครงการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯยามยาก)

 

6.2 จำกัดการทิ้งขยะของแต่ละคนให้น้อยกว่า 0.18 กิโลกรัม/คน/วัน

 

6.3 เลิกการใช้กล่องโฟมภายในโรงอาหาร

 

6.4 ลดจำนวนถุงพลาสติก และกล่องโฟมให้เหลือเพียง 0.5ชิ้น/คน/วัน

 

7. ขอสวยไว้ก่อน !

 

การพัฒนาพื้นที่ควรคำนึงถึงเรื่องของความสวยงามในการออกแบบ และผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาเป็นสำคัญ โดยสามารถเลือกวัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงาน เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้าตามมาตรฐาน Energy Star ติดตั้งเครื่องบำบัดน้ำเสีย  ติดตั้งกระเบื้องหลังคาเซรามิกที่มีแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ผู้ออกแบบต้องศึกษาถึงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเชื่อมโยงกับการออกแบบ เช่น ออกแบบให้มีที่กักเก็บน้ำฝน เพื่อนำนํ้าไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น รดน้ำต้นไม้  ล้างห้องน้ำ เป็นต้น

 

*สนใจติวเข้มเรื่องการสร้างองค์กรให้เป็นสำนักงานเขียว (Green office) สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมจากกรมควบคุมมลพิษ http://www.pcd.go.th/ โทร. 02-298-2495