ภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาหลักที่โลกเรากำลังเผชิญและถกเถียงกันในวงกว้าง หลายคนคิดว่าสาเหตุมาจากภาคอุตสาหกรรมหนัก และการทำกิจกรรมในภาคครัวเรือน แต่จากสถิติจากหลายหน่วยงานพบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ไม่สามารถมองผ่านได้ อรูนิมา มาลิค นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยซิดนีย์และเพื่อนร่วมงาน ประมาณการณ์การเกิดภาวะเรือนกระจกจากการท่องเที่ยวใน 160 ประเทศพบว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราวๆ 4.5 กิกะตัน หรือราวๆ 4,500 ล้านตันในแต่ละปี คิดเป็น 8% ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลก และยังพบว่าการปล่อยรอยเท้าคาร์บอน หรือ Carbon Footprint ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นมีประมาณเพิ่มอย่างรวดเร็ว จาก 3.9 กิกะตันสู่ 4.5 กิกะตันในปี 2013 และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต โดยมาลิคคาดการณ์ว่าหากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ รอยเท้าคาร์บอนที่เกิดจากการท่องเที่ยวในปี 2025 อาจมีค่าสูงถึง 6.5 กิกะตันเลยทีเดียว
เมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีบทบาททำให้โลกเกิดภาวะเรือนกระจกมากขึ้น การท่องเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism จึงผุดเพื่อตอบสนอง รูปแบบการท่องเที่ยวที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณต่ำ และรบกวนสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
Carbon Footprint ไม่ว่าจะย่ำตรงไหน มนุษย์เราก็ปล่อยคาร์บอน
ต้องเข้าใจก่อนว่า ทุกกิจกรรมของมนุษย์ล้วนปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าเราจะกิน เดินเล่น เที่ยว อ่านหนังสือ หรือแม้กระทั่งนอนกลางป่าเขา ร่างกายเราก็ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการสันดาป “Carbon Footprint (CF)” เป็นค่าทางวิทยาศาสตร์ที่คำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์หรือกิจกรรมต่างๆ สู่บรรยากาศ โดยคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งการวัดนั้นมีทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ทางตรงก็อย่างเช่น ไอเสียจากยวดยานพาหนะ ทางอ้อมวัดได้จากปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เราใช้
ทีนี่ขอให้นึกภาพตาม ในการท่องเที่ยวครั้งหนึ่ง มนุษย์เราต้องเช่าโรงแรม มีที่พัก แน่นอนว่าย่อมเกิดคาร์บอนฟุตปริ๊นซ์ทั้งการเครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น การซักทำความสะอาดเครื่องนอน ใช้เครื่องบิน 1 ครั้งก็ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเทียบเท่ากับรถยนต์ใน 1 ปี จะหม่ำมื้ออร่อยสักมื้อ ก็ต้องผ่านกรรมวิธีปรุงด้วยเครื่องมือทันสมัย หม้อหุงข้าว เตาก๊าซ เตาอบ ฯลฯ ไหนจะวัตถุดิบชั้นเลิศที่ผ่านการนำเข้าและเพาะเลี้ยงโดยเทคโนโลยีอีก ดังนั้นการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละครั้งจึงก่อให้เกิดคาร์บอนฟุตปริ๊นซ์ในจำนวนมหาศาลเกินกว่าที่คาดคิด เมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนเยอะเกินความต้องการ เกินการควบคุมจากธรรมชาติ ก๊าซพวกนี้ก็จะทำลายชั้นบรรยากาศ ปล่อยให้แสงอาทิตย์สาดส่องพื้นผิวโลกโดยง่าย และทำหน้าที่กักเก็บความร้อน ไม่ให้สะท้อนกลับออกไป โลกเราเลยร้อนระอุ คล้ายเตาอบที่ไม่มีอากาศถ่ายเท อุณหภูมิในโลกจึงสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น สัตว์ป่าล้มตายเป็นจำมาก ปะการังฟอกขาวหลายแสนตัว และอีกสารพันปัญหาเกี่ยวเนื่อง นี่เป็นเพียงแง่งเดียวของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราเอ่ยถึง คำถามคือจะทำอย่างไรที่จะทำให้การท่องเที่ยวยังคงสร้างรายได้ ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ? คำตอบ คือ Low Carbon Tourism หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ
Low Carbon Tourism วิถีการเที่ยวที่รบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด
Low Carbon Tourism หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ เป็นการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่มีใจสำคัญว่า เที่ยวอย่างไรถึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไว้น้อยที่สุด การเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำจึงดูละม้ายคล้ายคลึงกับการเที่ยวเที่ยวชุมชนแนวอนุรักษ์อยู่กลาย เที่ยวอย่างไรถึงได้รับความสะดวกสบาย สนุกสนาน ทว่าปลดปล่อยคาร์บอนแต่น้อย ลักษณะของการเที่ยวจึงเป็นส่งเสริมให้ใช้บริการขนส่งสาธารณะ ควบคู่ไปกับการใช้จักรยานในการพาไปสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงาน เลือกพักในโรงแรมที่มีการดำเนินกิจกรรมที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เน้นการท่องเที่ยวประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เที่ยวแบบลึกซึ้งกับคนพื้นถิ่น ละเลียดไปกับคุณค่าของวิถีชีวิตของชุมชนอย่างใกล้ชิด
ช่วงหลังประเทศไทยเรามีโครงการเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำอยู่หลายพื้นที่ ที่เห็นเด่นชัดมากที่สุด คือ บริเวณทะเลฝั่งตะวันออก ที่ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมกันวิจัย กิจกรรมหลัก ได้แก่ ปั่นจักรยาน พายเรือคยัคที่ “เกาะหมาก” ปล่อยลูกเต่าลงทะเลที่ “เกาะขาม” ปลูกปะการังที่ “เกาะหวาย” ทำกิจกรรม “Seed Bomb” ยิงเมล็ดพืชปลูกป่าและเล่นน้ำตกที่ “เกาะกูด” และรับประทานอาหาร Low Carbon Menu เน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเป็นส่วนประกอบหลัก ทาง อพท. เก็บผลการปล่อยคาร์บอน และพบว่าในทริปนั้นสามารถ ลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้ถึง 56% เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบปกติในพื้นที่
จริงๆ การเที่ยวแบบ Low Carbon Tourism ไม่จำเป็นต้องรอให้คนจัดทัวร์ หรือมีโปรเจคพิเศษจากภาครัฐ เราสามารถเที่ยวแบบง่ายๆ ด้วยการวางแผนเที่ยวโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก จากขับรถเองก็เลือกโดยสารรถสาธารณะ นอนโรงแรมหรู ก็เปลี่ยนมาเป็นพักโฮมสเตย์ หรือที่พักที่มีระบบการจัดการเอื้อต่อธรรมชาติ กินอาหารรสอร่อยที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่น และหากเป็นไปได้ ในหนึ่งทริปก็สมควรมีกิจกรรมรักษ์โลกที่ชดเชยการปลดปล่อยคาร์บอนของเรา เช่น กิจกรรมปลูกป่า เก็บขยะ เป็นอาทิ
ล้อมกรอบ
เที่ยวแบบ Low Carbon Tourism
– เที่ยวโดยการเดิน ปั่นจักรยาน พายเรือคายัค ใช้รถสาธารณะ
– กินอาหารที่ปรุงขึ้นจากวัตถุดิบท้องถิ่น
– มีกิจกรรมรักษ์โลก ชดเชยคาร์บอนที่ปล่อยไป เช่น ปลูกป่า เก็บขยะ ปล่อยเต่า ฯลฯ
– นอนโฮมสเตย์ท้องถิ่น หรือที่พักที่มีระบบการจัดการปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม