เมืองไทยเป็นดินแดนที่เปิดกว้างและต้อนรับผู้คนจากทุกชนชาติ ทุกศาสนา ทุกวัฒนธรรม ตั้งแต่โบราณ ผู้คนจากแดนไกลเดินทางเข้ามาค้าขาย บางส่วนก็หลงใหลจนตัดสินใจตั้งรกรากอยู่ร่วมกับคนไทยท้องถิ่น บ้างก็หนีความไม่สงบจากประเทศตนมาพึ่งความร่มเย็นใต้พระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยาม ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ได้ก่อเกิดกำเนิดเกิดขึ้นด้วยวิถีเดียวกัน สองศาสนา สามวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันอย่างสันติปรองดองเป็นพี่น้องร่วมชาติมากว่า 200 ปี บ่มเพาะและสร้างเสน่ห์วิถีชีวิตเรียบง่าย จนกลายเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เปี่ยมด้วยเสน่ห์
ย้อนไปในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวจาม หรือ แขกจาม ผู้นับถือศาสนาอิสลาม ได้อพยพหนีความไม่สงบจากการล่าอาณานิคมในดินแดนเขมรของฝรั่งเศส เข้ามาตั้งรกรากอยู่ร่วมกับคนไทยและคนจีน ณ บ้านน้ำเชี่ยว เวลาผ่านไปสองร้อยกว่าปี ความแตกต่างทางชนชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมได้รับการสานสายใยเกิดเป็นมิตรภาพและความสัมพันธ์อันแข็งแกร่ง เมื่อเวลาผ่านเลย ชุมชนขยายตัว ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ตามมา ชาวบ้านจับสัตว์น้ำได้น้อยลง กอรปกับในช่วงปี พ.ศ. 2547 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ รายได้ของคนในชุมชนหดหาย คุณศักดิ์ชัย เอี่ยมบุญญฤทธิ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยวคนปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้น (พ.ศ. 2547) ดำรงตำแหน่งนายกเทศบาลตำบลน้ำเชี่ยว จึงร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูป่าชายเลนรอบชุมชน ปลูกป่า และตั้งกฎห้ามตัด ห้ามทำลาย ห้ามจับสัตว์น้ำ ห้ามหาผลประโยชน์ในเขตป่า สิ่งเดียวที่ทำได้คือปลูกป่าและปล่อยสัตว์น้ำเพื่อเป็นแหล่งอนุบาล ตอนนี้ผืนป่าธรรมชาติดั้งเดิมและป่าปลูกขยายออกไปถึง 2,338 ไร่ และเริ่มถ่ายทอดแนวคิดนี้สู่ชุมชนข้างเคียง
การอนุรักษ์ดำเนินไป ส่วนรายได้เสริมก็มาจากการท่องเที่ยว คนในชุมชนช่วยกันระดมความคิดและสรุปได้ว่า “วิถีชีวิตดั้งเดิม” ที่ปฏิบัติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือสิ่งที่จะทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจ จากนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่ได้เข้ามาสัมผัสอัธยาศัย น้ำใจ การต้อนรับแบบญาติพี่น้องผองเพื่อน อาหารพื้นบ้าน ได้สนุกกับการลงมือทำ ลองผิดลองถูก จับปลา งมหอยปากเป็ด และมีส่วนร่วมไปกับกิจวัตรประจำวันของชาวบ้าน ได้เห็นโบราณสถานอายุสองร้อยกว่าปีอย่างมัสยิดอัลกุบรอ ได้ไหว้พระที่วัดน้ำเชี่ยว ขอพรจากศาลเจ้าจีน หรือถ่ายรูปกับสะพานวัดใจ ล้วนทำให้นักเดินทางได้พบกับความงามและความสนุกของการท่องเที่ยวชุมชน และได้รู้ว่าวิถีชีวิตแสนธรรมดานั้นมีเสน่ห์มากเหลือล้น
สิ่งที่ทำให้บ้านน้ำเชี่ยวยังคงเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่รักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมไว้ได้ คือ ชาวบ้านมองว่ารายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเป็นเรื่องรอง ทุกคนยังคงประกอบอาชีพดั้งเดิมของตน ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมเยือนได้ใช้ชีวิตที่กลมกลืนและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวบ้าน ทุกคนที่เข้ามาพักจะได้นอนโฮมสเตย์ในบ้านของคนชุมชน ป้านาง คุณทองศรี นรินทร หนึ่งในสมาชิกชุมชนบอกว่า “มาพักที่นี่ไม่เหมือนพักโฮมสเตย์ที่อื่น เพราะนักท่องเที่ยวต้องจองผ่านวิสาหกิจชุมชนฯ และทางวิสาหกิจชุมชนจะเป็นคนจัดสรรว่านักท่องเที่ยวจะได้พักที่บ้านหลังใด ที่ทำแบบนี้เพราะเราไม่ต้องการให้โฮมสเตย์เป็นธุรกิจจนเกินไป ไม่อยากให้เกิดการแข่งขัน และชาวบ้านในกลุ่มโฮมสเตย์ทุกคนก็จะได้รายได้ที่เท่าเทียมกัน โดยรับนักท่องเที่ยวตามลำดับคิว เป็นการกระจายโอกาสไปอย่างทั่วถึง” ส่วนนักท่องเที่ยวเองก็เหมือนมีเซอร์ไพรส์รออยู่เมื่อมาเช็คอินเข้าพัก บ้างได้นอนริมคลอง บ้างก็เป็นวิวทุ่งนา บ้างได้นอนบ้านสวน และในทุกครั้งที่กลับมาก็ได้สัมผัสบรรยากาศที่ต่างกันออกไป
ลมทะเลยามบ่ายพัดผ่านยอดโกงกาง เรือประมงสีสดรับหน้าที่เรือนำเที่ยวพามุ่งหน้าลัดเลาะคุ้งน้ำของคลองน้ำเชี่ยวออกสู่ปากอ่าว บริเวณนี้ในยามน้ำลดคือจุดหาหอยปากเป็ดของกินรสเด็ดประจำหมู่บ้าน และเป็นกิจกรรมไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวจะได้สวมบทบาทชาวประมงลงลุยโคลนงมหอย แต่วันที่เราไปเยือนน้ำขึ้นสูง ลุงคนขับเรือจึงอาสาทำหน้าที่ดำน้ำงมหอยโชว์ เพียงแค่อึดใจเดียวเท่านั้นลุงก็ขึ้นมาพร้อมกับหอยปากเป็ดเต็มกำมือ ส่วนใครที่ไม่อยากพลาดแนะนำให้มาช่วงต้นปี เพราะน้ำลดเยอะรับรองว่าได้ลงลุยโคลนด้วยตัวเองแน่นอน
+
รสหวานหอมกรุบกรอบเคี้ยวเพลินของขนม “น้ำตาลชัก” หรือตังเมกรอบ ช่วยให้สดชื่นลืมความร้อนของอากาศยามบ่ายได้ดี ขนมกินเล่นเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ชาวประมงรับเอาวัฒนธรรมอาหารของชาวจีนโพ้นทะเลและสืบทอดต่อมาจนปัจจุบัน นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้การต้อนรับด้วยขนมพื้นบ้านหรือของกินจากท้องถิ่นแบบนี้ ขนมอีกหนึ่งชนิดที่หากินได้เฉพาะที่บ้านน้ำเชี่ยวคือ “ข้าวเกรียบยาหน้า” ขนมของชาวมุสลิมที่สืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษแขกจาม แป้งข้าวเกรียบย่างไฟอ่อนๆ จนพอง หอม กรอบ ทาหรือยาหน้าด้วยน้ำตาลอ้อยเคี่ยวหอมกรุ่น โรยด้วยมะพร้าวขูดผัดกับเนื้อกุ้งป่นปรุงรสเค็มอ่อนๆ สีส้มคล้ายหน้ากุ้งของขนมเบื้อง แต่ต่างกันตรงกลิ่นพริกไทยดำหอมฉุน เรียกได้ว่าเป็นของว่างที่กินเพลินเกินจะหยุดเลยจริงๆ
เรือพาเราลัดเลาะไปตามโค้งคลอง ระหว่างทางสู่จุดปลูกต้นโกงกาง มีเหยี่ยวแดงบินผ่านมาให้เห็นเป็นระยะ แต่จะเยอะที่สุดในช่วงเย็นๆ ตลิ่งโคลนตรงทางเข้าป่าอนุรักษ์ของชุมชนคือจุดที่เรามาปลูกต้นโกงกางกัน นักท่องเที่ยวทุกคนจะได้ปลูกต้นโกงกางคนละหนึ่งต้น ไม่เพียงแต่มาเก็บเกี่ยวความสุข แต่ทุกคนยังได้ช่วยกันต่อยอดและอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่สืบต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลาน เราเลือกเดินผ่านป่าโกงกางกลับสู่หมู่บ้าน หอดูนกที่เทศบาลสร้างไว้ แม้สูงถึง 16 เมตร แต่ก็ไม่อาจสู้ความสมบูรณ์ของผืนป่าปลูกแห่งบ้านน้ำเชี่ยว โกงกางแต่ละต้นสูงเกือบ 20 เมตร อากาศในป่าเย็นสบาย และถ้าใครโชคดีอาจได้เห็นลิงแสมออกมาหาอาหาร หากขี่จักยานเที่ยวในหมู่บ้านจะได้เห็นเครื่องจักสาน เช่น “งอบ” ที่คุณย่าคุณยายยังคงยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตนเองและมีการถ่ายทอดสู่ลูกหลาน สิ่งเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมของการอนุรักษ์ทั้งด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ที่ทำโดยกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งรักท้องถิ่นและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนมีอยู่
เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มขยายตัว การปลูกฝังสำนึกในเรื่องวัฒนธรรมและการอนุรักษ์ให้กับเยาวชนจึงจำเป็นมากขึ้นทุกขณะ ทางวิสาหกิจชุมชนฯ จึงจัดตั้ง “กลุ่มเยาวชน ฅ.คนต้นน้ำ” มาช่วยกันรักษาและฟื้นฟูทำความสะอาดคลองน้ำเชี่ยว แม้ว่าทุกบ้านในชุมชนมีการคัดแยกขยะและจัดการขยะอย่างเป็นระบบ แต่กระแสน้ำก็ยังพัดพาขยะจากเมืองมาอยู่ดี จึงมีการทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ทั้งด้านวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจัดตั้ง “กลุ่มนักสื่อความหมายท้องถิ่น” มาทำหน้าที่พานักท่องเที่ยวทำกิจกรรมและเที่ยวในชุมชน เรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดและสืบสานวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นด้วยวิธีการที่ได้ประโยชน์ทั้งต่อชุมชน และสร้างความความสุขความประทับใจให้ผู้มาเยือนได้เป็นอย่างดี
รางวัลชนะเลิศ “หมูบ้าน OVC” หรือ “OTOP Village Champion” ปี 2549 จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย รางวัลชุมชนดีเด่นทางด้านการท่องเที่ยว ปี 2550 รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย รางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยว ปี 2556 และปี 2558 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รางวัลชนะเลิศการประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่น ระดับประเทศ ปี 2559 และปี 2560 จากกรมส่งเสริมการเกษตร และอีกหลายรางวัลจากหน่วยงานรัฐและเอกชน เป็นสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จในการบริหารงานท่องเที่ยวชุมชนซึ่งมีวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมเป็นเสน่ห์ดึงดูด มีชาวบ้านช่วยกันบริหาร ปรึกษาหารือ และวางแนวทางร่วมกัน ก่อเกิดเป็นความแข็งแกร่งทั้งด้านการรักษาสิ่งเก่าและการพัฒนาสู่สิ่งใหม่ โดยมีหัวใจหลักคือความยั่งยืนทั้งด้านวิถีชีวิต เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และบ้านน้ำเชี่ยวก็พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนนั้นทำได้ไม่ยาก หากคนในชุมชนร่วมมือกัน
ติดต่อสอบถามรายละเอียดและที่พักโฮมสเตย์
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด
โทร. 06 1660 0955 เฟสบุ๊ค www.facebook.com/NamchieoCommunity
วันเสาร์-อาทิตย์ สัปดาห์แรกของทุกเดือน นักท่องเที่ยวสามารถชม ชิม ช้อป ที่ตลาดประชารัฐ ริมสองฝั่งคลอง และร่วมกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย