รถยนต์สี่ล้อเคลื่อนตัวจากสนามบินนครศรีธรรมราชมุ่งหน้าสู่ อำเภอพรหมคีรี โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ ‘ชุมชนพรหมโลก’ ชุมชนเก่าแก่กว่า 250 ปี ทางตอนเหนือของจังหวัดนครศรีธรรมราช เด่นมากเรื่องธรรมชาติและสายน้ำ เนื่องจากพื้นที่กว่ากึ่งหนึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง อีกทั้งอากาศแบบร้อนชื้นจึงเหมาะแก่การเพาะปลูกตลอดปี
สถานที่เด่นในชุมชนแน่นอนว่าต้องเป็น น้ำตกพรหมโลก น้ำตกขนาดใหญ่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ที่สมบูรณ์พร้อมด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด ก่อนเดินเที่ยวน้ำตกพรหมโลก หัวหน้าชุมชนขนอาหารพื้นบ้านมาให้กินกันเพียบ แกะปิ่นโตวางบนโต๊ะนั่งกินแถวลำธาร มีทั้งแกงส้ม แกงกะปิ ปลาทอด ผัดสด เยอะแยะไปหมด เติมพลังเสร็จแล้วก็มุ่งหน้าเดินเที่ยวน้ำตก
หัวหน้าชุมชนบอกเราว่า น้ำตกพรหมโลกมีราวๆ 50 ชั้น แต่ที่เปิดให้ชมจริงๆ มีเพียง 4-5 ชั้น เท่านั้น ชั้นล่างเป็นสายน้ำตกขนาดใหญ่ เคียงคู่กับผาสูง บนผาสลักพระปรมาภิไธยย่อ ภปร และ สก ไว้เมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสร็จประพาสในปี 2502 ชั้นอื่นๆ ต้องเดินเลาะผ่านป่า ขึ้นไปยังด้านบน แต่เดินง่ายๆ ลักษณะน้ำตก มีลานหินกว้าง เหมาะแก่การพักผ่อน แอ่งน้ำบางแอ่งลึกและเป็นน้ำวน บางแอ่งเล่นได้แม้แต่เด็กเล่น ชาวบ้านเชื่อว่า น้ำตาพรหมโลกเป็นที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเทพชั้นพรหมจึงได้ตั้งชื่อ ‘น้ำตกพรหมโลก’
เที่ยวชมจนพอใจ นั่งรถสองแถวไปต่อยัง ‘วังปลาแงะ’ ลำธารสายเล็กที่ชาวบ้านในชุมชน นิยมมานั่งพักผ่อน เอกเขนกในวันว่าง มีลักษณะเป็นลำน้ำกว้าง ไหลต่อเนื่องจากมาน้ำตกพรหมโลก ผู้ใหญ่จนถึงเด็กเล็กสามารถเล่นน้ำได้อย่างสบายใจ น้ำใสไหลเย็น อากาศสดชื่นสุดๆ ปลาในน้ำมีปริมาณเยอะมาก ทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ ว่ายทวนล้อกระแสน้ำ แม้เราจะไม่ได้นำมาชุดมาเล่น แต่แค่พับขากางเกง เอาเท้าลงไปจุ่มรับไอเย็น แค่นี้ก็ฟินแล้ว
คืนนี้เราพักที่โฮมสเตย์ของชุมชน คุณลุงคุณป้าเจ้าของบ้านต้อนรับขับสู้เราดีมาก และห้องพักก็สะอาดมากเช่นกัน โฮมสเตย์ในชุมชนมีอยู่หลายหลัง ทุกหลังล้วนอยู่ใกล้กับตลาดเช้า วังปลาแงะ และน้ำตกพรหมโลก สามารถปั่นจักรยาน หรือนั่งสองแถวเที่ยวได้ จากที่พักไม่เกิน 10 นาที ตลาดน้ำเช้าที่นี่ มีทั้งตลาดสดและตลาดแห้ง ขายตั้งแต่ผักสด กุ้งหอย ปู ปลา ไปจนถึงอาหารปรุงสุก และข้าวของเครื่องใช้ เดินเล่นเพลินๆ ก็ได้ของติดไม้ติดมือกลับมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอด ข้าวยำ และสะตอป่า ที่ชาวบ้านเข้าไปหาในเขาหลวงเพื่อมาขาย
นอกจากแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ ทางชุมชนยังมีกิจกรรมอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวลองทำมากมาย เช่น หัดลองกรีดยางสดๆ จากต้นยางพารา กิจกรรมนี้ต้องตื่นแต่เช้า เพราะชาวบ้านจะเริ่มกรีดยางตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง แนะนำให้ใส่กางเกงขายาวและรองเท้าผ้าใบเพื่อกันยุงและแมลงสัตว์กัดต่อย หลังจากไปลองมาแล้ว เราพบว่าการกรีดยางไม่ได้ยากอย่างที่คิด แต่ก็ไม่ง่ายเช่นกัน ถ้าลงมีดลึกไปก็อาจสร้างความเสียหายแก่ต้นยางได้ ถ้าลงผิวไป น้ำยางก็จะไม่ออกหรือออกน้อยกว่าที่ควร เห็นแบบนี้กว่าจะเริ่มกรีดได้รูป ชนิดที่ว่าคุณลุงคุณป้าบ่อยให้ทำเอง ก็ใช้เวลานานอยู่เหมือนกัน
กิจกรรมอย่างถัดมาคือการทำผ้าติก ของชุมชนนี้เขาไม่ได้มาแบบเล่นๆ ชนิดวาดลวดลายไว้แล้วให้เราแค่ลงสี แต่เริ่มสอนให้เราเรียนรู้ตั้งแต่ประเภทของอุปกรณ์ ลวดลายพื้นบ้าน สอนวิธีการลงเทียน ขั้นตอนต่างๆ ก่อนปล่อยให้เราอวดฝีมือตามใจอยาก ผลงานที่ได้แน่นอนว่าสวยบ้างไม่สวยบ้างตามประสา แต่ศิลปะล้วนไม่มีถูกไม่มีผิด
ส่วนใครที่ไม่สนใจเรื่องงานฝีมือ ที่นี่มีเวิร์คช็อปทำอาหารท้องถิ่น อย่างวันที่เราไปเป็นเมนู ‘น้ำพริกลูกประ’ จานอาหารพื้นบ้านหากินยากที่มีเฉพาะชุมชนพรหมโลกเท่านั้น ลูกประเป็นไม้พื้นเมืองที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในเขตร้อนชื้น ภูเขาสูง สามารถเก็บได้ปีละครั้งช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม ส่วนที่นำมากินเป็นเมล็ด มีลักษณะเป็นเม็ดรียาว เปลือกแข็งมีน้ำตาลเข้ม กระเทาะเปลือกออกแล้วเอาเนื้อไขสีขาวครีมออกมากิน จะกินเล่น หรือนำไปอาหารอย่างอื่นก็ได้ รสชาติหวานมัน คล้ายเม็ดกระบก หรืออัลมอนด์ วิธีทำน้ำพริกนั้นไม่ยาก ส่วนผสมคล้ายน้ำพริกกระปิอยู่หลายส่วน เพียงแต่เปลี่ยนจากกระเทียมเป็นหอมแดง และเป็นน้ำพริกแห้ง สูตรลับอยู่ที่กะปิต้องหอม และรสไม่เค็มจัด โขลกๆ ตำๆ อยู่พักใหญ่ ก็ได้รสตามต้องการ ขอบอกว่ากินกับข้าวสวยร้อนๆ และผักสด อร่อยนักแล
อากาศที่พรหมโลกสดชื่นมาก แสงสีเขียวมีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาติอันพิสุทธิ์สามารถเข้าถึงได้โดยใช้เวลาไม่กี่นาที เป็นการเที่ยวที่รู้สึกผ่อนคลายมาก ปลดเปลื้องตนออกจากความตึงเครียดของคนเมืองเข้าสู่วิถีธรรมดาแบบเรียบง่าย ตื่นเช้ามามีของกินอร่อยๆ ในราคาถูกในเลือกซื้อหา เดินไปทางไหนก็มีรอยยิ้มส่งมอบให้กัน ไมตรีจิตความเป็นเจ้าบ้านแบบไม่หมกเม็ด เลี้ยงดูปูเสื่อเราเหมือนลูกหลานในครอบครัว กับข้าวอร่อยๆ ผลไม้ตามฤดูกาลมีให้กินจนเบื่อ สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากๆ เกี่ยวกับชุมชนนี้ นี่คือการอยู่รวมกันกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน พวกเขารู้ว่าจะต้องดูแลรักษาอย่างไร จะใช้ชีวิตอย่างไรจึงวินวินทั้งสองฝ่าย เราเห็นชาวบ้านหอบมังคุดป่า และฝักสะตอออกจากป่า ทว่าขณะเดียวกันเขาดูแลผืนป่าที่เขารัก ไม่เก็บผล ฝัก หรือสิ่งที่ไม่จำเป็น ดูแลเรื่องความสะอาด และการเข้าถึงของมนุษย์
“ถ้าเราดูแลรักษาเขาดี เขาก็จะตอบแทนเราดี” หัวหน้าชุมชนบอกกับเราแบบนั้น
ใครที่อยากเที่ยวแบบสีเขียว ให้ธรรมชาติโอบกอดแบบเรา สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและติดต่อชุมชนได้ที่ Facebook : https://www.facebook.com/CBTPromlok