ชุมชนบ้านแหลมกลัด
มาสัมผัสและเรียนรู้ชีวิตชาวเล จับกุ้ง จับปลา จับปู และทานอาหารพื้นบ้าน แนะนำให้มาที่ ชุมชนบ้านแหลมกลัดในอดีตเคยเป็นพื้นที่ห่างไกลเป็นชุมโจร แต่รัชกาลที่ 5 ได้ตรัสให้ข้าราชบริพารเข้ามาดูแลพื้นที่ จนได้ชื่อว่า “แหลมตรัส” และเพี้ยนมาเป็น “แหลมกลัด” ในภายหลัง
พื้นที่ริมทะเล และป่าชายเลนของสถานที่นี้มีความอุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งให้ชาวบ้านได้จับสัตว์น้ำต่าง ๆ เพื่อใช้หาเลี้ยงชีพ ส่วนชาวบ้านเองก็รู้ว่าเพื่อจะทำให้ความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ยั่งยืนตลอดไปจะต้องร่วมอนุรักษ์และใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม จึงใช้วิธีการทำประมงพื้นบ้าน ไม่รบกวนธรรมชาติจนเกินไป และรู้จักที่จะรักษาป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์นี้ไว้เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อประโยชน์ในการทำมาหากินในภายภาคหน้าต่อไป
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนก็จะได้ร่วมเรียนรู้จิตสำนึกเหล่านี้จากชุมชน เป็นการปลูกฝังค่านิยมในการรักษ์และเคารพธรรมชาติที่เกื้อกูลให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ที่นี่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งลองทำประมงพื้นบ้าน ทำลอบจับปู จับหอย ล่องเรือชมป่าชายเลน และชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน กิจกรรมปลูกป่าชายเลน คลี่หญ้าทะเลเทียมให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์น้ำเล็ก ๆ กิจกรรมปล่อยปู และชมศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้า และหากมาในช่วงเดือนตุลาคม-เดือนเมษายนยังจะมีโอกาสได้ชมโลมาอิรวดี และแมงกะพรุนหลากสีอีกด้วย ส่วนใครเลือกพักค้างคืนก็จะได้พักในที่พัก แบบโฮมสเตย์กับชาวบ้านและได้ชิมอาหารทะเลสด ๆ เป็นมื้อค่ำ
กิจกรรมไฮไลต์
- ปักหมุดเดือนตุลาคม-เดือนเมษายน เพื่อเดินทางมาชมโลมาอิรวดี และแมงกะพรุนหลากสี
- ทดลองเป็นชาวประมง ทำลอบจับปู จับหอย ฯลฯ
- พักโฮมสเตย์ ทานอาหารท้องถิ่น และชมหิ่งห้อยในยามค่ำคืน
ช่วงเวลาที่เหมาะสม
- สามารถท่องเที่ยวได้ทุกฤดูกาล (แมงกะพรุนถ้วยจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติช่วงเดือนตุลาคม-เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เฉลี่ยประมาณ 20-30 วัน ในช่วงปลายฝนต้นหนาว เวลา 06.00-11.00 น. ส่วนโลมาชนิดหัวบาตร พันธุ์อิรวดี จะมาเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม เวลา 08.00-10.00 น.)