ศรัทธาความเชื่อ ที่หยั่งรากฝังลึกลงสู่วิถีชีวิต ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมและประเพณีของชุมชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชนกลุ่มน้อย หรือชนกลุ่มใหญ่ ก็ล้วนมีวัฒนธรรมและประเพณีของตนเอง เพียงแต่ปัจจุบัน รูปแบบของสังคมเมืองอาจจะไม่ชัดเจนมากนัก แต่ในสังคมชนบทหลายแห่งยังคงรูปแบบความเชื่อและสืบต่อประเพณีที่เข้มแข็ง ซึ่งประเพณีเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากสภาพพื้นที่ และธรรมชาติที่รายล้อมรอบตัว หากสังเกตให้ดีล้วนมีแนวคิดเรื่องการอนุรักษ์อยู่เบื้องหลัง ขอยกตัวอย่างจากบางชุมชนมาให้ดูกัน ว่าวิถีถิ่นแสนดีที่มีสำนึกอนุรักษ์นั้นเป็นอย่างไร
ปกาเกอะญอ กับธรรมชาติ
วิถีชาวปกาเกอะญอ ผูกพันกับธรรมชาติ ป่า ดิน และน้ำ โดยเฉพาะการเกษตร ที่มีความเชื่อว่าต้องให้ความเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด นั่นคือพระเจ้าที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น การบูชาผีนาผีไร่ ทุกปีมีการเสี่ยงทายพื้นที่ทำกิน ว่าจะปลูกข้าวเลี้ยงสัตว์ในบริเวณไหน ปีถัดไปจะไม่ใช้พื้นที่ซ้ำเดิม แต่จะเสี่ยงทายหาพื้นที่ใหม่ ดูไปอาจเหมือนการทำไร่เลื่อนลอย แต่นั่นกลับตรงกันข้าม เพราะการปล่อยให้พื้นที่ที่เคยทำเกษตรว่างลง ธรรมชาติจะค่อยๆ เยียวยาตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม ผิดกับวิถีเกษตรเชิงเดี่ยวในปัจจุบัน ที่ไม่ได้มีเรื่องของศรัทธาต่อธรรมชาติ แต่คำนึงแต่เรื่องการปลูกพืชราคาดี และขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆจนป่าหมด การปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำในที่เดิม สุดท้ายดินก็เสื่อม ผลผลิตน้อย คุณภาพผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน นำไปสู่ราคาตกต่ำ
นอกจากความเชื่อด้านการเกษตร ยังมีความเชื่อและกฎที่ช่วยรักษาผืนป่าและสรรพสัตว์ เช่น ไม่ยิงชะนีเพราะชะนีคล้ายคน ไม่ล่านกเงือก เพราะเป็นสัตว์มีคู่ครองเดียว ถ้าฆ่าหนึ่งตัว อีกตัวก็จะตายตาม ห้ามตัดต้นไม้หรือทำประโยชน์อื่นๆในเขตป่าช้า เพราะวิญญาณบรรพบุรุษจะได้อยู่ในที่สงบร่มเย็น ต้นไม้ที่มีผลให้กิน ห้ามตัดมาสร้างบ้าน แหล่งน้ำในป่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต้องใช้อย่างเคารพ ไม่ทำให้สกปรกหรือทำลายต้นน้ำ อ่อนน้อม และถือว่าคนเป็นเพียงผู้อาศัยธรรมชาติ ไม่ใช่เจ้าของธรรมชาติ
ไม่เพียงแต่ชาวปกาเกอะญอเท่านั้นที่เชื่อเช่นนี้ แต่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆในประเทศไทยต่างก็มีแนวคิดที่คล้ายคลึงกัน เช่น ชาวไทลื้อ มีการจัดพิธีเลี้ยงผีเจ้าป่าเจ้าเขา เพราะเชื่อว่าต้นไม้ทุกต้นมีผี มีเทวดาปกปักษ์รักษา ไม่ควรรุกล้ำ และต้องให้ความเคารพ มิเช่นนั้นอาจเกิดภัยต่อตน ฟังดูเหมือนงมงาย แต่ความเชื่อเชนนี้กลับกลายเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ได้ผลดีอย่างน่าอัศจรรย์
บวชป่า
เมืองไทยนั้นมีเสรีภาพในการนับถือหลายศาสนา แต่คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ในการรักษาป่าจึงได้มีการนำความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาปรับใช้ อย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2529 พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือของไทยถูกทำลายโดยกลุ่มนายทุน ทำให้ชาวบ้านใน อ.แม่ใจ จ.พะเยา นำโดย พระมานัสนทีพิทักษ์ เจ้าคณะอำเภอในขณะนั้นมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้มีกุศโลบาย นำเรื่องของศรัทธาและความเคารพในพระสงฆ์มาช่วยรักษาธรรมชาติไว้ โดยจัดเป็นพิธีเฉกเช่นเดียวกับการทำบุญทั่วไป เพียงแต่นำจีวรไปพันรอบต้นไม้ นัยว่าต้นไม้ต้นนี้มีสถานะเปรียบได้กับสงฆ์ ผู้ใดที่ตัดทำลายถือว่าเป็นบาปมหันต์ การเลือกต้นไม้เข้าพิธีบวชนั้นชาวบ้านในชุมชนจะช่วยกันเลือก ส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้ใหญ่ ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศต้นน้ำ และเป็นต้นไม้มีค่าที่เกรงว่าจะถูกลักลอบตัด
เมื่อชาวบ้านคือผู้เลือกต้นไม้ จึงก่อเกิดการมีส่วนร่วม และความรู้สึกว่าป่าที่ได้ทำการบวชนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เกิดความหวงแหน และปกป้องไม่ยอมให้ใครเข้ามาทำลายป่าแห่งชีวิตของพวกเขา ทุกวันนี้ประเพณีบวชป่าเป็นหนึ่งในวิธีที่หลายพื้นที่นำไปปรับใช้และได้ผลเยี่ยม
เลี้ยงผีขุนน้ำ สืบชะตาแม่น้ำ
เป็นกิจกรรมที่คล้ายกับบวชป่า โดยเกิดมาจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการทำลายแหล่งน้ำและต้นน้ำ เป็นประเพณีที่นิยมทำกันในเขตภาคเหนือ ได้แนวคิดมาจากการสืบชะตาคน คือการต่ออายุให้ยืนยาว ทุกครั้งที่ทำพิธีจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในหมู่บ้านช่วยกันขุดลอก ทำความสะอาดแหล่งน้ำ ลำธาร คลอง หรือแม่น้ำในท้องถิ่นของตน ทำให้ชาวชุมชนมีความตระหนักและเห็นว่าถ้าเราเอาแต่ใช้โดยไม่รักษา แหล่งน้ำธรรมชาติอันเปรียบเสมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชุมชนจะทรุดโทรมมากเพียงใด และเมื่อแหล่งน้ำสะอาดเพราะการร่วมใจแล้ว จึงประกอบพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกปักษ์รักษาแหล่งน้ำ ใช้ความเชื่อ สร้างความเคารพ และจิตสำนึกในการดูแลธรรมชาติที่ตนได้ใช้ประโยชน์ การสืบชะตาแม่น้ำเป็นวิธีหนึ่งซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้ทั้งจากชุมชนและภาครัฐ เกิดเป็นแนวทางอนุรักษ์ร่วมกัน ทั้งคนต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
เดินเต่าหายไป อนุรักษ์เต่าทะเลไทยมาแทน
“เดินเต่า” ไม่ใช่การเดินช้า ๆ อย่างเต่า แต่เป็นประเพณีท้องถิ่นของเมืองภูเก็ตในอดีต คือการเดินหาไข่เต่าที่หาดไม้ขาว หรือชายหาดอื่นๆ ในช่วงฤดูวางไข่ ดูแล้วอาจเป็นประเพณีที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก แต่เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไป จำนวนเต่าทะเลลดลงจนอยู่ในขั้นวิกฤต การเดินเก็บไข่เต่าจึงถูกปรับรูปแบบมาเป็นการแอบดูเต่าวางไข่ และเดินชายหาดเพื่อป้องกันคนลักลอบขุดไข่เต่าแทน
ในทุกๆ ปี เต่าทะเลจะขึ้นมาวางไข่ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงกุมภาพันธ์ กองทุนอนุรักษ์เต่าทะเลบ้านไม้ขาวจึงออกเดินลาดตระเวน พร้อมทั้งเก็บไข่เต่ามาฟูมฟักไว้ในศูนย์อนุรักษ์ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและชุมชน เมื่อถึงเวลาที่ลูกเต่าพร้อมกลับสู่ทะเล เป็นช่วงเวลาเดียวกับประเพณีสงกรานต์ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงจัดงานปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติ เป็นการสร้างกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ขึ้นมาอย่างน่าสนใจ โดยนักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ แถมได้สัมผัสกับเต่าทะเลได้อย่างใกล้ชิด ส่งผลให้จำนวนเต่าทะเลเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งความสมบูรณ์ของเต่ายังมีความสำคัญคือ เป็นดัชนีบ่งชี้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศอีกด้วย
มนุษย์สามารถดำรงชีพมาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ บรรพบุรุษของเราเรียนรู้และตระหนักในเรื่องนี้ดี จึงสร้างรูปแบบวิถีชีวิตและประเพณีที่ช่วยควบคุมรักษาความสมดุล ระหว่างการใช้และการอนุรักษ์ แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไป หลายๆ อย่างอาจกลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ทำให้คนหลงลืมว่าข้าวของเครื่องใช้ และพลังงานที่ทำให้เราสุขสบายทุกวันนี้ ล้วนมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติทั้งนั้น และเป็นทรัพยากรที่มีวันหมดไป ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะมองย้อนกลับไปเรียนรู้สิ่งที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติและพร่ำสอน และนำมาปรับใช้เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรโลก