หลายชุมชนยังคงดำเนินชีวิตเรียบง่ายเคียงคู่สายน้ำ อย่างชาวบางใบไม้ หรือ “ชาวในบาง” ตามคำเรียกของคนท้องถิ่น มีวิถีชีวิตอยู่ริมลำคลองสายเล็กที่ไหลลงแม่น้ำตาปี เชื่อมต่อจากสายหนึ่งไปยังอีกสายหนึ่ง ซึ่งมีคลองเล็กคลองน้อยนับร้อยคลอง จนได้รับขนานนามว่า “คลองร้อยสาย” เชื่อมต่อพื้นที่ 6 ตำบล
พื้นที่นี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ชุมน้ำที่มีแม่น้ำตาปีเป็นพรมแดนแบ่งเขตตามธรรมชาติ กั้นแบ่งระหว่างพื้นที่ของชุมชนใบบางกับพื้นที่ฝั่งเขตอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี ด้วยภูมิประเทศอยู่ใกล้ปากอ่าวบ้านดอน ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ บ้างมีสภาพน้ำกร่อย น้ำเค็ม น้ำทะเลหนุน และน้ำจืด วนเวียนอยู่ตลอดปี ด้วยความเป็นอยู่ที่ใกล้ชิดกับสายน้ำ ชาวชุมชนในบางส่วนใหญ่จึงประกอบอาชีพประมงควบคู่กับการทำสวนจาก สวนมพร้าว และชาวบ้านที่นี่ยังคงใช้การเดินทางโดยเรืออยู่ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีถนนตัดผ่านให้เดินทางได้สะดวก เห็นได้จากเกือบทุกบ้านมีท่าเรือและมีเรือจอดอยู่ จนกระทั่งเริ่มพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนที่มีความผูกพันกับสายน้ำ โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน
กิจกรรมล่องเรือเที่ยวชุมชนเป็นหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจ เริ่มกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ล่องไปตามลำคลองสายเล็กที่มีมากนับร้อยสาย ตลอดสองริมฝังคลองที่ล่องผ่านมีต้นจากและต้นมะพร้าวปลูกเรียงราย มีบ้านเรือนตั้งอยู่ห่างกันเป็นระยะ บ้านโบราณริมคลองซึ่งบางหลังมาอายุเก่าแก่มากกว่า 200 ปี หนึ่งในนั้นคือ บ้านนายอำเภอหลังเก่า อายุกว่า 60 ปี เป็นเรือนไม้โบราณ หลังคาทรงปั้นหยา มุงด้วยกระเบื้องว่าว ทั้งยังมีบ้านตึกก่ออิฐฉาบปูนตามอย่างสมัยนิยม หลายหลังสร้างเอาไว้ให้นกนางแอ่นอยู่อาศัย การเข้ามาของนกเศรษฐกิจสามารถใช้เป็นดัชนีวัดคุณภาพของน้ำที่ดี และเป็นแหล่งรายได้มูลค่ามหาศาลของชุมชน
ด้วยบรรยากาศอันร่มรื่นของคลองร้อยสายที่เต็มไปด้วยป่าจาก สวนมะพร้าว และพืชน้ำตลอดสองฝั่งคลอง จึงมีจุดเช็คอินถ่ายรูปโพสต์ลงสังคมออนไลน์ อย่าง อุโมงค์จาก ที่เท่สวยงามแนวฮิปสเตอร์เลยล่ะ และด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างสมบูรณ์ ทำให้ชาวชุมชนได้นำมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที อาทิ เอาลูกจากมาทำขนมจาก ใบจากเอาไปห่อขนม หรือเอามาสานปลาตะเพียน และหมวกสานใบจาก ก้านเอามามัดรวมเป็นไม้กวาด รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะชมการสาธิตจากชาวบ้านในขณะล่องเรือ อาทิ การทำสวนเกษตร การทำประมงพื้นบ้าน การสาธิตการทำหัตถกรรมกะลามะพร้าว ผักตบชวา เขียนผ้าบาติก ชมการสาธิตทำผลิตภัณฑ์จากพืชในท้องถิ่น อาทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำส้มสายชูจากต้นจาก น้ำตาลสดจากต้นจาก ก็สามารถเลือกซื้อเป็นของฝากติดมือกลับบ้านได้ ทั้งยังเป็นกำลังใจให้กับชาวชุมชนและช่วยกระจายรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
เพื่อความเป็นสิริมงคล ต้องแวะไปนมัสการหลวงพ่อข้าวสุก ณ วัดบางใบไม้ ศูนย์รวมจิตใจของชาวบางใบไม้ และชาวคลองร้อยสาย พระพุทธรูปปางสมาธิ อายุกว่า 100 ปี สร้างจากข้าวสุกเสกคาถาที่เหลือจากก้นบาตรวันละเล็กละน้อย โดยหลวงพ่อขำ เพื่อขับไล่ภูตผีปีศาจตามความเชื่อของชาวบ้านสมัยนั้น เนื่องจากเกิดโรคห่าระบาด ทำให้ชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมาก ต่อมาเลยมีคนปั้นข้าวสุกพอกองค์หลวงพ่อพร้อมต่อเติมองค์เดิมเรื่อยมาจนองค์ใหญ่ขึ้น และมีการหล่อทองแดงหุ้มองค์หลวงพ่อเพื่อกันมดแมลงมากินข้าว
พ่อข้าวสุก สามารถเขียนอีกแบบหนึ่งว่า หลวงพ่อข้าวสุข มาจากความเชื่อที่ว่า ข้าวคือความอุดมสมบูรณ์ หรืออู่ข้าวอู่น้ำ ส่วน สุข หมายถึง ความเป็นอยู่อันร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์โศก เป็นปริศนาธรรมของของผู้สร้างที่แฝงอยู่กับความเชื่อของชาวบ้านนั่นเอง
พอตกเย็นก็เตรียมไปล่องเรือสัมผัสอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ผูกพันกับสายน้ำไม่ต่างจากชาวชุมชน อย่างหิ่งห้อย แมลงตัวน้อยที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนริมแม่น้ำหรือลำคลองที่ยังคงความสะอาด ปราศจากมลพิษทุกทาง พอพระอาทิตย์เลิกงาน แสงแดดรำไรเริ่มอ่อนแรงลง ความมืดเข้ามาครอบคลุม ก็เป็นเวลาของเจ้าหิ่งห้อยตัวน้อยที่จะบินวนเวียนอยู่ตามต้นไม้ใหญ่ริมน้ำ ส่องแสงระยิบระยับเหมือนดาวบนฟ้า ท่ามกลางบรรยากาศแสนโรแมนติกของป่าชายเลนสองฝั่งอันบริสุทธิ์
นอกจากล่องเรือชมความร่มรื่นริมคลองแล้ว ที่นี่ยังมีโฮมสเตย์ให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการมาพักผ่อนท่ามกลางความสงบเรียบง่ายใกล้ชิดธรรมชาติ มีการจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ชาวชุมชนที่ต้องการเข้าร่วมได้ผนึกกำลังกันและผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันต้อนรับนักท่องเที่ยว จึงนับเป็นหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจ ด้วยอากาศอันบริสุทธิ์ พันธ์ไม้นานาชนิด สายน้ำในลำคลอง รวมถึงน้ำใจไมตรีของชาวบ้านในชุมชุน ที่ทำให้บรรยายกาศสดชื่อ เย็นสบายทั้งใจและกาย
การเดินทาง : จากศาลากลางจังหวัดสุราษฎรณ์ตรงไปประมาณ 8 กิโลเมตร ถึงตัวตำบลบางใบไม้ ข้ามสะพานแม่น้ำตาปี แล้วตรงไปอีก 3 กิโลเมตร จะเห็นป้ายศูนย์บริการการท่องเที่ยวตำบลบางใบไม้ให้เลี้ยวขวาก็จะถึงวัดบางใบไม้ หรือหากไม่ต้องการพักค้างคืน ก็สามารถลงเรือหน้าจวนผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อชมหิ่งห้อยคลองร้อยสายและสัมผัสวิถีชุมชนได้
ค่าใช้จ่ายล่องเรือ : ค่าเรือคนละ 100 บาท นั่งได้ 5 คน ถ้าเกิน 5 คนคิดเพิ่มคนละ 100 บาท ใช้เวลาล่องเรือประมาณ 2 ชั่วโมง
ที่พักโฮมสเตย์ : ที่สามารถสัมผัสวิถีชีวิตของชาวชุมชนอย่างใกล้ชิด สามารถติดต่อเข้าพักได้ที่ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวคลองร้อยสายแม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ควรสำรองที่พักก่อนเดินทางอย่างน้อย 2 วัน
ติดต่อสวนลุงสมประสงค์ โทร. 08-1589-8635 สวนลุงสุรินทร์ โทร. 084-626-5397 และร้านบ้านปลายคลอง เปิด 10.30-22.00 น. โทร. 083-547-6314, 081-643-4248
สอบถามการเดินทางและค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมต่างๆ สามารถติดต่อได้ที่
คุณจรัญญา ศรีรักษ์ หรือกำนันสาว โทร. 081-6074935