เวิร์คช็อปงานฝีมือหรืองานคราฟท์ (Craft) บางอย่าง นอกจากจะทำให้ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้ว ยังพาคุณไปสัมผัสกับเสนืห์วิถีท้องถิ่นด้วย ลุยงานฝีมือกับ เวิร์คช็อปสุดเก๋ที่ภาคเหนือ และภาคใต้ อยู่ท่ามกลางวิถีดั้งเดิม เรียนรู้และเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคำว่าเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ที่สอนให้ทุกคนพึ่งพาตนเอง ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่น คำสอนเรียบง่าย แต่ช่วยให้แต่ละชุมชนได้สืบทอดภูมิปัญญา และสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างยั่งยืน 

           “คำว่า พอเพียง มีความหมายว่า พอกิน เศรษฐกิจแบบพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเองแปลจากภาษาฝรั่งได้ว่า ให้ยืนบนขาของตัวเองหมายความว่า สองขาของเรายืนบนพื้นให้อยู่ได้ไม่หกล้มไม่ต้องไปขอยืมของคนอื่นเพื่อที่จะยืนอยู่คำว่า พอ….”

พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานในโอกาสที่คณะบุคคลเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

           ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางสำคัญให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ได้นำมาปรับใช้ ก่อให้เกิดความสุข สร้างอาชีพ และรายได้ให้คนในชุมชน วันนี้เราจึงจะพาเหล่าสาวกงานฝีมือไปเสพความงามของศิลปหัตถกรรมไทย ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นมาอย่างยาวนาน

          เริ่มต้นกันที่แรกที่ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ใครๆ ก็กำลังนิยมกัน นั่นคือ การทำผ้ามัดย้อม หรือผ้าหม้อห้อมนั่นเอง เพราะทำได้ง่าย มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก จะพาลุยไปให้ถึงแห่งแหล่งกำเนิดการทำ และสืบสานต่อจากรุ่นสู่รุ่นกันมาอย่างยาวนานสายคราฟท์ของแท้ ต้องไปแพร่ ย้อมผ้าครามแม้ว่าแพร่อาจจะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวยอดนิยมของภาคเหนือ แต่มีเสน่ห์ของงานคราฟท์ซ่อนตัวอยู่ ที่ขอแนะนำให้ปักหมุดไว้เลยก็คือ โฮมสเตย์ป้าเหงี่ยม นั่งเครื่องบินไปแค่ชั่วโมงเดียว ลงสนามบินแพร่ แล้วเรียกรถรับจ้างบอกไปบ้านป้าเหงี่ยม เทศบาลซอย 3 ใครๆ ก็รู้จัก พอมาถึงเดินเข้าไปจะเจอราวแขวนผ้าหม้อห้อมที่ย้อมแล้วเรียงรายกันอยู่เกือบร้อยผืน มองไปทางไหนก็จะเจอแต่สีฟ้าครามละลานตาไปหมด เป็นสีเย็นๆ ที่ช่วยพักสายตา และพักใจจากเมืองที่วุ่นวายได้ดีทีเดียว มาถึงแหล่งทั้งที ก็ต้องเรียนรู้ให้ถึงแก่น นอนพักที่โฮมสเตย์ป้าเหงี่ยมไปด้วยเลย ราคาก็ไม่แพง อยู่ที่คืนละ 150 บาท  นอนกันง่ายๆ สบายๆ ให้ความรู้สึกของวิถีชีวิตพื้นบ้านดีจริงๆ และมีค่าเรียนรู้การทำผ้าหม้อห้อมเพียง 500 บาท รวมๆ แล้วก็ 650 บาท เมื่อถึงที่พักก็เอาสัมภาระไปเก็บ และเริ่มเรียนได้เลย ซึ่งวันแรกที่ไปถึงจะได้เรียนรู้ทฤษฎีสีย้อมจากธรรมชาติ การทอผ้าฝ้ายด้วยมือ และการพิมพ์ลาย พอวันที่สองก็จะเข้าสู่ภาคปฏิบัติ ได้ลงมือทำกันจริงๆ ซึ่งป้าเหงี่ยมจะมีผ้าเช็ดหน้ามาให้ลองย้อมกันก่อน แต่ถ้าใครมีกางเกงยีนส์เก่าๆ หรือเสื้อยืดเก่าที่อยากชุบชีวิตให้ใหม่ละก็ สามารถพกมาย้อมได้เหมือนกัน  มาถึงถิ่นของกินก็ต้องไม่พลาด แนะนำว่าให้รีบตื่นเช้าๆ แล้วไปกินข้าวที่ตลาดชั่วโมง ซึ่งจะเปิดเวลา 7.00 – 8.00 น. เท่านั้น

แหล่งผลิตหม้อห้อมจังหวัดแพร่ บ้านป้าเหงี่ยม
291 หมู่ 5 ตำบลทุ่งโฮ้ง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เปิดทุกวัน, โทร. 0895133048
ขอบคุณภาพจาก: https://www.facebook.com/indigobypangiam/

          ขึ้นเหนือมาอีกนิด มาต่อกันที่ เชียงราย แหล่งเครื่องปั้นดินเผาบ้านดอยดินแดงก่อตั้งโดย อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ศิลปินเซรามิกระดับนานาชาติ ซึ่งเลือกตั้งสตูดิโอทำงานอย่างมีความหมาย เพราะที่ดอยแห่งนี้ มีดินแดงเป็นวัตถุดิบเฉพาะท้องถิ่น พอนำมาปั้นแล้วจะให้สีสวย เนื้อเนียนละเอียด และอาจารย์ยังใช้วัตถุดิบทุกอย่างจากธรรมชาติ เช่น สีฟ้าพาสเทลที่เคลือบดินเผาก็ได้มาจากขี้เถ้าฟาง ซึ่งทุกอย่างที่นำมาปั้นนั้น มาจาดวัสดุธรรมชาติทั้งนั้น ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าธรรมชาตินั้น สามารถสรรสร้างได้ทุกอย่างจริงๆ ถ้าเรารู้จักประยุกต์ ใช้ให้เกิดประโยชน์ 

          สำหรับคนที่หลงรักงานปั้นดินเผา และอยากเอาดีทางนี้จริงๆ ให้เตรียมตัวให้พร้อมแล้วลองไปสมัครฝึกงานกับอาจารย์ได้เลย อาจารย์พร้อมเปิดรับ และให้ความรู้ผู้ที่มีใจรักทางด้านนี้ ส่วนใครที่อยากมาเลือกซื้อเซรามิกจิบกาแฟอร่อยๆ ใกล้ชิดธรรมชาติแบบนี้ ก็สามารถเดินทางได้โดยนั่งเครื่องบินลงสนามบินเชียงราย แล้วขับรถมุ่งหน้าไปทาง อำเภอแม่สาย ประมาณ 6 กิโลเมตร ดอยดินแดงจะอยู่ทางด้านขวามือในซอยเดียวกับหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว เลี้ยวเข้าซอยประมาณ 1-2 กิโลเมตรเท่านั้นก็ถึงแล้ว

แหล่งเครื่องปั้นดินเผา บ้านดอยดินแดง

49 หมู่ 6 ซอย บ้านป่าอ้อ ถ.พหลโยธิน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย 57100
เปิดวันจันทร์ – เสาร์โทร. 0 5370 5293
ขอบคุณภาพจาก: https://th.readme.me/p/8951


          ปิดท้ายเส้นทางสุดท้ายลงใต้กันบ้าง คราวนี้เราพาไปชิคๆ เก๋ๆ เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง ลองนั่งรถไฟไปลงพัทลุง ทำงานสานสายโมเดิร์นที่ศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี ซึ่งหลังจากโทรไปเช็ควันว่าง และนัดแนะเวลากับทางศูนย์ให้มารับที่สถานีรถไฟพัทลุงแล้ว เราก็วางแผนตีตั๋วรถไฟเอ็กซ์เพรสไปพัทลุงได้เลย หรือถ้าใครจะสะดวกเดินทางด้วยวิธีอื่นๆ ก็สามารถโทรนัดกับทางศูนย์ได้เลย แต่ถ้ามาโดยรถไฟจุดหมายปลายทางก็คือ สถานีปากคลอง ถึงแล้วก็ไม่รอช้า รถของศูนย์จะมารอรับตามเวลา นั่งรถชมวิวไปสักครู่ รถก็เลี้ยวเข้ามาที่โฮมสเตย์ ภาพแรกที่เห็นในสายตาคือกองกระจูดหลายสิบกอง ที่ตั้งเรียงตากแดดให้แห้ง ไว้รอรีดขึ้นงานสาน ถัดไปที่ใต้ถุนก็จะเห็นงานสานแบบต่างๆ ทั้งเสื่อ กระเป๋า ตะกร้า กล่อง เก้าอี้ วางเรียงเป็นชั้นๆ ไล่สี ไล่ลาย โดยมีเหล่าแม่บ้านสาวน้อยใหญ่ คุณย่าคุณยายนั่งสานงานอยู่ มือสานไป ปากก็ยิ้มไป รอต้อนรับนักท่องเที่ยวมือใหม่อย่างอบอุ่น ลายสานที่นี่มีลวดลายที่ร่วมสมัย มีตั้งแต่ลายธรรรมดา ไปจนถึงลายชิโนริ หรือสายหวาน สีพาสเทล เขาก็ทำได้ อยากถักลายไหนแบบไหนก็สามารถบอกพี่ที่สอนได้เลย แนะนำให้เริ่มต้นด้วยการสานเสื่อก่อน เพราะง่ายสุด ฝึกพอให้ชินมือ แล้วค่อยย้ายไปฝึกทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อ นอกจากจะได้มาเรียนรู้การสานจากที่นี่แล้ว บ้านโฮมสเตย์ของหมู่บ้าน ก็น่ารักไม่แพ้กัน ตื่นเช้าๆ มาเจออากาศบริสุทธิ์ ชิมอาหารใต้อร่อยๆ แค่นี้ก็คุ้มค่าที่ได้ไปเยือนแล้ว


ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณี (Varni)
152 หมู่ 10 ตำบลพนางตุง อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 93150
เปิดวันศุกร์ – อาทิตย์, โทร.08 77609879
ขอบคุณภาพจาก: https://www.facebook.com/varni2529/

อ่านมาถึงตรงนี้ มีที่ไหนโดนใจกันบ้างเอ่ย ซึ่ง 3 เวิร์คช็อปที่แนะนำมานั้นเป็นตัวอย่างของแหล่งชุมชนที่สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ดึงจุดเด่นของชุมชนมาสืบสาน และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ได้อย่างดี เป็นความเรียบง่ายที่มีเสน่ห์สุดๆ ถ้าเพื่อนๆ มีเวลาว่าง ลองหาโอกาสไปสัมผัสเสน่ห์ด้วยตัวเองกันสักครั้ง ไม่แน่ความคิด และชีวิตของคุณอาจเปลี่ยนไป