Volunteer tourism, Volunteer Travel, Voluntourism เที่ยวปันน้ำใจ เที่ยวจิตอาสา ไม่ว่าจะเรียกด้วยคำไหน ก็ต้องยอมรับว่าเทรนด์ท่องเที่ยวแบบนี้กำลังมาแรงแซงโค้ง เริ่มเป็นที่นิยมขึ้นมากในต่างประเทศโดยเฉพาะนักเดินทางวัยหนุ่มสาว Gen Y และกำลังแผ่ขยายไปสู่กลุ่มนักเดินทางกระเป๋าหนัก เทรนด์นี้ไม่ได้เพิ่งเกิด แต่เกิดมานานเป็นสิบปีแล้ว เพียงแต่เพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา นั่นอาจเป็นเพราะสื่อโซเชี่ยลและการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่เข้มข้นขึ้นทุกขณะ

 

ในปี 2015 โพลด้านการท่องเที่ยวสำรวจโดย Marriott Rewards Credit Card from Chase ของอเมริกา ระบุว่ามีนักท่องเที่ยวสนใจการเดินทางแบบจิตอาสามากถึง 84% ของกลุ่มตัวอย่าง และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นทุกปี Shannon O’Donnell ผู้ครองตำแหน่ง Traveler Of The Year (2013) โดย National Geographic จากการท่องเที่ยวแบบจิตอาสาและโปรเจคชุมชนคนจิตอาสา A Little Adrift (www.alittleadrift.com) และ Grassroot Volunteering (grassrootsvolunteering.org) กล่าวว่า “ที่จริงแล้วมีโอกาสมากมายที่เราจะสามารถเอาการท่องเที่ยวและการแบ่งปันมาไว้ในทริปเดียวกันได้ ไม่ว่าจะเป็นจากการพูดคุย การสอนหนังสือ การก่อสร้าง การบริการด้านสุขภาพ ฯลฯ” อย่างเช่นที่เธอทำตลอดการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกยาวนาน 1 ปี เธอจะหาข้อมูลและมองหาชุมชน องค์กร หรือพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลืออยู่เสมอ โดยวางแผนล่วงหน้าแบ่งช่วงเวลาให้พอเหมาะพอดีทั้งเรื่องทำงานจิตอาสาและพักผ่อนตามที่เธอปรารถนา เพราะมันคือการเดินทางแบบ FOR – FUN คือ ทั้งให้ประโยชน์กับผู้อื่น และสนุกสุขใจในฐานะนักท่องเที่ยว

 

ถ้าคุณค้นหาดูสักนิด จะเห็นได้ว่ามีจุดหมายมากมายที่สามารถเที่ยวแบบจิตอาสาได้ และมีไม่น้อยที่อยู่นอกเส้นทางท่องเที่ยวกระแสหลัก ซึ่งก็หมายความว่าการท่องเที่ยวแบบนี้สามารถพาคุณไปพบกับการเดินทาง  ผู้คน และสังคมใหม่ๆ

 

สำหรับในไทยเริ่มมีกลุ่มคนที่สร้างสังคมการท่องเที่ยวแบบจิตอาสาขึ้น อย่าง “อาสาเที่ยว” (www.facebook.com/rsatieowfanpage), “TrekkingThai” (www.trekkingthai.com) หรือ “เครือข่ายจิตอาสา” (www.volunteerspirit.org) ที่แสดงให้เราเห็นว่าในทุก ๆ การเดินทาง เราสามารถแบ่งปันได้ ไม่ว่าจะแป็นแรงกาย แรงน้ำใจ ความรู้ ทักษะด้านต่างๆ หรือแรงเงินซึ่งช่วยรักษา ต่อยอด อนุรักษ์ และส่งเสริมชุมชนที่ได้ไปเยือน จากเดิมที่นักท่องเที่ยวคือ “ผู้รับ” แต่การเดินทางแบบนี้ทำให้นักเที่ยวเที่ยวทั้งหลายเป็นทั้ง “ผู้รับและผู้ให้” ซึ่งเข้าคอนเซ็ปต์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืนเป๊ะ มาดูดีว่าการท่องเที่ยวแบบบำเพ็ญประโยชน์มันดียังไง

 

 

เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

 

การเดินทางแบบนี้จะทำให้คุณได้เข้าไปสัมผัสกับตัวตนของชุมชนและสังคมท้องถิ่นจริง ๆ ได้เห็นความสวยงามของวิถีชีวิตแสนธรรมดาที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมากมาย และทำให้ชาวบ้านตระหนักรู้ว่าชุมชนของตนเองนั้นมีดีและมีคุณค่าไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี สถาปัตยกรรม และพร้อมที่จะรักษาสืบทอดไว้

 

เปลี่ยนคุณจากนักท่องเที่ยวสู่ “นักเดินทาง”

 

เมื่อออกเดินทางแบบจิตอาสา คุณจะได้รู้จักและใช้ชีวิตอยู่กับท้องถิ่น ชุมชน ผู้คนในเชิงลึก ได้ลงมือทำกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ชาวบ้านทำ ได้ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหา ได้เอาความรู้ความถนัดที่เรามีมาถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แล้วเก็บความรู้ของท้องถิ่นติดตัวกลับบ้าน ได้พูดคุย ได้มุมมองใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ จากพี่ป้าน้าอาผู้เฒ่าผู้แก่ และชาวบ้านในชุมชนก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดแนวคิดในการสร้างชุมชนเพื่อต้อนรับนักเดินทางสีเขียว และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วไปไม่อาจทำหรือสัมผัสได้มากเท่านี้

 

 

สร้างเศรษฐกิจชุมชน

 

แน่นนอนว่าในทุกการเดินทางต้องมีการใช้เงินไม่มากก็น้อย การเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่รายได้มักจะตกไปสู่กลุ่มธุรกิจ หรือนายทุน แต่กับการท่องเที่ยวแบบจิตอาสานั้น รายได้ส่วนนี้ตกสู่ชุมชนโดยตรง อย่างน้อยก็ในเรื่องค่าใช้จ่ายอาหารการกินที่เป็นทั้งค่าแรงงานชาวบ้าน และจ่ายเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์อาหารและการเกษตรจากชุมชน รวมไปถึงค่าที่พัก และอาจปิดท้ายด้วยการจับจ่ายเพื่อซื้อของฝากที่เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เห็นได้ว่าเงินเกือบทุกส่วนเป็นของชุมชน และเมื่อมีเม็ดเงินเข้ามาท้องถิ่นก็สามารถนำไปพัฒนาและอนุรักษ์ให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ง่ายขึ้น

 

สามข้อที่กล่าวมาก็คือประโยชน์และประสบการณ์ที่คุณจะได้รับจากการท่องเที่ยวเชิงแบ่งปัน ถ้าอยากลองเที่ยวแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน ก็ขอให้เริ่มจากตัวเอง โดยเราต้องรู้ก่อนว่าเรามีความถนัดด้านใดบ้าง ชอบทำอะไร หรือมีความสามารถด้านใด แล้วเลือกจุดหมายกับกิจกรรมจากความสนใจและสิ่งที่เราสามารถเข้าร่วมได้ แต่ก็มีอีกหลายๆ กิจกรรมที่ทุกคนทำได้ไม่จำกัดทั้งความรู้ เพศ หรือทักษะ ทั้งการปปลูกป่า ปล่อยเต่าทะเล อาบน้ำและดูแลช้างชรา สร้างฝาย ฯลฯ ซึ่งค้นหาได้จากข้อมูลหลายแหล่งในอินเตอร์เน็ต และชุมชนคนเที่ยวจิตอาสาที่กล่าวไว้ตั้งแต่ตอนต้นของบทความนี้

 

การเดินทางท่องเที่ยวในทริปดีๆ นั้นทำได้ไม่อยาก แต่จะคุ้มค่ากว่าถ้าการเดินทางของคุณนั้นได้ทำประโยชน์และให้อะไรที่มากกว่ารายได้คืนกลับสู่ท้องถิ่นที่คุณได้ไปเยือน

 

___________________

ข้อมูลอ้างอิง

 

www.dermatologytimes.com/derm-pulse/voluntourism-top-travel-trend-it-right-you

www.nationalgeographic.com/travel/travelers-of-the-year-2013/shannon-o-donnell

www.volunteeringsolutions.com