เราจะทำธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไร ที่จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้รักษ์สถานที่ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา อุทยานธรณีโลกสตูล อุทยานทางธรณีวิทยาที่เกิดจากการผลักดันโดยชาวบ้านและคนพื้นที่ ให้กลายแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งเรียนรู้ระดับโลก

 

เชื่อว่ามีหลายทริปที่นักเดินทางแวะเวียนไปชมความงามของสถานที่ แล้วก็โบกมือลา โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเบื้องหลังของจุดหมายปลายทางเหล่านั้นมีความพิเศษเพียงใด เอ้า! ก็อยากพักผ่อน แค่เห็นทิวทัศน์สวยๆ ถ่ายรูปลงโซเชียลอวดเพื่อนก็พอแล้ว จะรู้เรื่องราวปูมหลังให้รกสมองไปใย อันที่จริงก็ไม่ผิด แต่มันจะดีกว่าไหมถ้าคุณได้รู้จักสถานที่แบบลึกซึ้งขึ้นอีกนิด ไม่แน่ว่าความจริงที่เรารู้เพิ่มขึ้นอาจสร้างความรู้สึกหวงแหน และทำให้คุณสนุกกับการเที่ยวขึ้นโขทีเดียว อย่างทริปตามรอยอุทยานธรณีโลก จังหวัดสตูล ที่เราได้สัมผัสมา

 

สตูล เป็นจังหวัดที่เรียกได้ว่า ‘ถูกมองผ่านมากที่สุด’ ทั้งที่อยู่ใกล้เมืองใหญ่ มีจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวยอดฮิตล้อมรอบ ไม่ว่าจะเป็นตรัง หาดใหญ่ หรือกระบี่ ที่จริงสตูลเป็นจังหวัดที่สามารถใช้เป็นจุดเชื่อมต่อสู่มาเลเซียทางรถยนต์ได้ด้วย แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวหลายคนที่เคยเดินทางไปเที่ยวเกาะหลีเป๊ะมาแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วหลีเป๊ะอยู่ในรอบรั้วของจังหวัดสตูล! กระทั่งอุทยานธรณีสตูลได้เลื่อนขั้นเป็นอุทยานธรณีโลก การท่องเที่ยวจังหวัดสตูลก็คึกคักขึ้นผิดหูผิดตา โดยเฉพาะในเขตอำเภอละงู มะนัง และทุ่งหว้า ซึ่งเป็นสามอำเภอที่พื้นที่ของอุทยานตั้งอยู่ จากเดิมอุทยานนี้มีแต่คนพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงมาเที่ยว หลังจากนั้นจึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนเมืองต่างถิ่นเข้าไปเยือนมากขึ้น แม้จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปในพื้นที่มากขึ้นแต่การบริหารจัดการพื้นที่ก็ยังอยู่ในรูปแบบการบริหารแบบชุมชน

 

 

การเดินทางไปสตูลของฉันนั้น ปราสาทหินพันยอด เป็นสถานที่แรกที่ฉันปักหมุด ที่นี่เป็นเกาะหินปูน ห่างจากชายฝั่งปากน้ำบาราไปเพียง 15 นาที อยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เกาะกลางทะเลที่มีโพรงหินทรงแปลกตาล้อมรอบ และมีใจกลางเป็นน้ำทะเลสีเทอร์ควอยส์ การเยี่ยมชมต้องซื้อทัวร์ทางน้ำกับชุมชนบริเวณปากน้ำบารา ซึ่งมีชุมชนหลายกลุ่มที่ให้บริการนำเที่ยว แต่ที่มีชื่อมากสุด คือ ชุมชนโฮมสเตย์บ้านบ่อเจ็ดลูก ชุมชนแรกในพื้นที่ที่ริเริ่มทำทัวร์ตามรอยฟอสซิลดึกดำบรรพ์ ซึ่งมีปราสาทหินพันยอดรวมอยู่ด้วย แพ็คเกจทัวร์ของชุมชนประกอบไปด้วย ทัวร์ทางน้ำครึ่งวัน เยือนปราสาทหินพันยอด ถ้ำลอดพบรัก ทะเลแหวกสันหลังมังกร อ่าวฟอสซิล ป่าโกงกาง ปิดท้ายด้วยอาหารพื้นถิ่น 1 มื้อ โดยฝีมือการปรุงอาหารของคนในชุมชน แม้ทัวร์ชุมชนจะมีการทำงานกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่หวือหวาเหมือนทัวร์ท่องเที่ยวแถบอันดามัน แต่ความรู้สึกที่ส่งต่อให้นักท่องเที่ยว ฉันให้เต็มสิบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวประวัติความเป็นมาของท้องถิ่น เรื่องราวของฟอสซิล ตั้งแต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถึงช่วงเวลาการค้นพบตามจุดต่างๆ ชาวบ้านในชุมชนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้หมด ต่างกันแค่บางคนอาจรู้เยอะ รู้น้อยต่างกันไป แต่ก็อยู่ในระดับที่ให้ความรู้ได้อย่างถูกต้อง จากช่วงแรกที่มองซากฟอสซิล นอติลอยด์ แอมโมไนต์ สัตว์ในช่วงยุคสร้างโลกไม่ออก ก็เริ่มสังเกตและจำแนกออก ได้ความรู้ใหม่ๆ ติดตัวจากกิจกรรมท่องเที่ยว

 

 

เมื่อจำแนกเป็น การท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกก็สนุกขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะไม่ใช่แค่ชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูกเท่านั้น แต่ความรู้ที่ได้รับก็ทำให้การไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังอื่นๆ ในจังหวัด (ที่ดังมาก่อนแล้ว) อย่างถ้ำเลสเตโกกอน อำเภอทุ้งหว้า และถ้ำภูผาเพชร อำเภอมะนัง ก็สนุกเพิ่มมากขึ้น และสิ่งที่เหมือนกันของทั้ง 3 แห่ง คือ ชาวบ้านท้องถิ่นเป็นคนดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวเอง โดยภาครัฐเข้ามาเป็นเพียงผู้ช่วยในกาดูแลและการจัดการ อย่างถ้ำเลสเตโกกอน ถ้ำธารลอดขนาดใหญ่ ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร ที่ต้องพายคายัคเข้าไปชม เปิดให้บริการวันละเที่ยวตามสภาพน้ำขึ้นน้ำลง

 

 

การเที่ยวชม ถ้ำเลสเตโกกอน ต้องจองล่วงหน้า ผ่านศูนย์อุทยานธรณีโลกสตูลเท่านั้น โดยไกด์นำเที่ยวทั้งหมดเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่ผ่านการอบรบจากภาครัฐ มีองค์ความรู้เรื่องราวของถ้ำ และอุทยานธรณีโลกเป็นอย่างดี ส่วนถ้ำภูผาเพชร ถึงแม้ไม่ต้องซื้อทัวร์เฉกเช่นบ้านบ่อเจ็ดยอด และถ้ำเลสเตโกกอน แต่ผู้นำเที่ยวภายในถ้ำก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ภายใต้การดูแลของอุทยานเช่นกัน

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวทุกแห่งที่พูดถึงมีจุดแข็งเหมือนกัน คือ การให้ความรู้ ทั้งในแง่ความสำคัญของสถานที่ และวิธีการเที่ยวชมอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อสถานที่ท่องเที่ยวน้อยที่สุด เป็นความรู้ที่ไม่ได้เน้นวิชาการ ถึงขั้นง่วงเหงาหาวนอน น่าเบื่อ แต่เป็นความรู้ที่ทำให้รู้สึกสนุกและเห็นคุณค่า สารภาพตามตรงว่าครั้งแรกที่ตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวก็ไม่ได้คาดหวังกับการเจอฟอสซิลเท่าไรนัก เพราะคิดว่าคงเจอได้ในพิพิธภัณฑ์สักชิ้นสองชิ้น แต่ผู้นำทัวร์ท้องถิ่นในทุกๆ ที่ที่ไปเยือน กลับชี้ชวนให้ดู พร้อมให้ความรู้จนเข้าใจ และรู้สึกว่าไม่ว่าจุดไหนในสตูลก็มีซากฟอสซิลอายุกว่า 500 ล้านปีเต็มไปหมด ตามถ้ำในป่าใหญ่ หินผาบนเกาะกลางทะเล กรวดหินดินทราย ขนาดเราเป็นนักท่องเที่ยวยังอินขนาดนี้ แล้วชาวบ้านทั่วไปที่เข้าถึงและสัมผัสมันตลอดเวลาจะเป็นเช่นไร

 

 

ความรู้สึกนี้ล่ะ! เป็นตัวจุดฉนวนให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสรู้สึกถึงความสุดยอดของสถานที่ เกิดความหวงแหนและอยากอนุรักษ์ไว้ไม่ให้ถูกทำลายลง แม้ในกรณีของอุทยานธรณีโลกสตูลจะเป็นธุรกิจนำเที่ยวขนาดเล็ก ขับเคลื่อนโดยชุมชน ทว่าสามารถนำไปประยุกต์ในธุรกิจขนาดใหญ่ได้ คิดดูสิว่า องค์ความรู้สำคัญเพียงใด จากสถานที่ที่ไม่มีผู้สนับสนุน กระทั่งผลักดันให้เป็นอุทยานธรณีสตูล และกลายเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล แหล่งความรู้ระดับโลกในทุกวันนี้ ที่ทำให้โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบารา โครงการที่อาจสร้างความเสียหายทางธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงจึงถูกตั้งคำถามหากจะมีการก่อสร้าง ส่งผลให้เกิดการยุติโครงการไว้ก่อน เพื่อนำไปทบทวนและหาแนวทางที่เหมาะสมทั้งด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเงื่อนไขสำคัญ คือ ความรู้ การร่วมมือ และการทำหน้าที่ที่ดีของธุรกิจนำเที่ยวซึ่งดำเนินการด้วยสำนึกและความรักษ์ในทรัพยากรของท้องถิ่นตน