เสียงระเบิดตูมตาม พื้นที่สีแดงเสี่ยงอันตราย ไม่เหมาะแก่การท่องเที่ยว คือภาพลักษณ์ของสามชายแดนภาคใต้ที่เราคุ้นชิน จนเผลอทำใจไปแล้วว่าต่อให้สวยอย่างไรก็คงไม่ไป อารมณ์แนวว่า “ฉันไม่เที่ยวก็ได้ ถ้ามันดูไม่ปลอดภัยขนาดนั้น” แต่พอได้เยือนยลจากที่เคยระวาดระแวงภัยก็กลายเป็นหลงรักและชอบเอามากๆ อาหารการกินอร่อย ผู้คนน่ารัก ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวก็ยังสวยงาม

 

ชุมชนบ้านบานา เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางชุมชนในจังหวัดปัตตานีที่ผู้เขียนชื่นชอบมากพิเศษ เพราะสถานที่เดียวเราสามารถเห็นถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และอยู่อาศัยร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างน่ารัก ‘บานา’ เป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มีประวัติความเป็นมายาวนาน ว่ากันว่าในอดีตมีฐานะเป็นเมืองท่าของอาณาจักรปัตตานีลังกาสุกะฝั่งทะเลตะวันออก และเดดาห์ ศูนย์กลางชุมชนตั้งอยู่บริเวณ ‘สะพานไม้บานา’ สะพานไม้หน้ากว้างเมตรนิดๆ ทอดยาวลงสู่อ่าวปัตตานี ทำหน้าที่เป็นทั้งท่าเรือรับส่งชาวบ้านในละแวก รวมถึงสถานที่แวะพักผ่อนหย่อนใจ

 

ด้วยความที่อยู่ติดทะเล ชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จึงมีอาชีพทำประมง แน่นอนว่าเป็นประมงพื้นบ้านไม่ได้โอ้อ่าใหญ่โตอย่างจังหวัดอื่น อยู่กันแบบพอมีพอกิน จับได้เท่าไรเก็บไว้กินก่อนแล้วจึงเหลือขาย พอเข้าสู่ช่วงสัตว์น้ำวางไข่ พวกเขาจะงดจับสัตว์น้ำ และนำเรือเหล่านั้นปรับเปลี่ยนหน้าที่มาขับรับจ้างเป็นอาชีพเสริม หรือรวมกลุ่มทำท่องเที่ยวแนวชุมชน ให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจมาเรียนรู้ความเป็นบ้านบานา

 

เรือลำน้อยพาเราออกจากท่าลัดเลาะเลียบอ่าว สองข้างหน้ามองเห็นเป็นป่าโกงกางต้นอวบสูง มีกุ้ง หอย ปู ปลา ว่ายเวียนอยู่ใกล้ฝั่ง ส่วนไหนที่พ้นเหนือน้ำแลเห็นนกกระยางเดินย่ำๆ อยู่ทั่ว ด้านที่ออกกว้างสู่ทะเลมีเสาไม้วางระเกะระกะเป็นกลุ่มก้อน พอถามคนในชุมชนได้ความว่า ทำไว้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ส่วนที่เป็นวางเรียงเป็นแถวต่อกันเป็นทางยาว อันนั้นคือฟาร์มเลี้ยงหอยตามธรรมชาติของชาวบ้าน อันที่จริง ถ้าน้ำลดลงมากกว่านี้ คุณลุงจะพาเราลุยเลนนั่งเรือกระดานเก็บหอยมาทำกินกันสดๆ

 

ใกล้กันกับสะพานไม้บานา ห่างกับเพียง 2 นาทีเดิน เป็นจุดชมวิวที่ควรค่าแก่การแวะชม ลำไม้ไผ่วางทอดอยู่บนกลุ่มต้นโกงกางขนาดใหญ่ เปลี่ยนบริเวณนั้นให้กลายลานโล่งบนไม้สูง คนในพื้นที่นิยมมานั่งรับลมเย็นๆ ดูพระอาทิตย์อัสดงบริเวณอ่าว หรือไม่ก็กลายเป็นสถานที่ไว้นั่งพูดคุย

 

 

นอกจากการทำประมง การทำนาเกลือ เป็นหนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านบานา และประจำหวัด ชาวบ้านทำนาเกลือมาหลายชั่วอายุคน ในบันทึกของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ รายงานทูลเกล้าถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เมื่อ พ.ศ. 2439 ความว่า “…ในเมืองปัตตานี มีนาเกลือแห่งเดียวตลอดแหลมมลายู สินค้าเกลือเมืองปัตตานี ขายได้อย่างแพงถึงเกวียนละ 16 เหรียญ ขายตลอดออกไปจนสิงคโปร์ และหมาก…” แม้ปัจจุบันพื้นที่นาเกลือบางส่วนจะถูกเปลี่ยนเป็นโรงงานอุตสาหกรรม และนากุ้ง แต่ก็มีผู้ทำนาเกลือหลงเหลืออยู่ราว 500 คน พื้นที่ 3,500 ไร่ ผลิตเกลือได้ปีละ 7,000 ตัน เกลือที่ได้เก็บขายกันเป็นกระสอบหรือเป็นกันตัง 1 กันตังเท่ากับ 4 ลิตร ตกกันตังละ 70 บาท

 

จุดเด่นของเกลือปัตตานีอยู่ที่รสชาติ ด้วยภูมิประเทศกึ่งดินลุ่มดินเลน และเป็นน้ำกร่อย ผลผลิตที่ได้จึงแตกต่างจากเกลือแถวเพชรบุรี หรือสมุทสาคร คือในรสเค็มของเกลือมีรสหวานซ่อนอยู่ เกลือที่นี่จึงไม่เค็มจัดจ้าน จึงเป็นที่ต้องการของตลาดเนื่องจากปรุงอาหารได้อร่อยนัก นอกจากเกลือทำอาหารแล้ว ชุมชนยังต่อยอด นำเกลือไปทำผลิตภัณฑ์สปา เพิ่มมูลค่ามากกว่าการขายเกลือเม็ด

 

สถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่เราชอบมาก คือ อุโมงค์ป่าโกงกาง ซึ่งเกิดจากการโค้งรับกันของกิ่งก้านต้นโกงกางสองฝั่งคลอง มีหลายอุโมงค์มากตามการแตกแขนงของลำน้ำ เรือลำเล็กค่อยๆ เคลื่อนตัวไปตามลำน้ำ ลัดเลาะคลองท่ามกลางผืนป่าใหญ่ ป่าโกงกางที่นี่ถือว่าอุดมสมบูรณ์มาก ลำตัวอวบใหญ่แตกแขนงรากใหญ่โต ชวนให้นึกถึงทรัพยากรทางน้ำอันเหลือล้น การมีป่าชายเลนที่ดี หมายถึงคุณมีแหล่งพักผิงให้แก่สัตว์น้ำชั้นเลิศ ไม่ว่าจะเป็นกุ้งหอยปูปลา ล้วนแต่ต้องพึงพาทั้งนั้น ฉันถามชาวบ้านว่า ป่าโกงกางที่นี่ดูแข็งแรงและมีอายุยืนมาก แลดูไม่เหมือนป่าปลูกใหม่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเลย คุณลุงบอกเราว่า พวกเขาดูแลรักษากันมานานแล้ว บริเวณนี้ไม่มีโรงทำถ่านเหมือนยังจังหวัดอื่นๆ ไม่มีการปล่อยสัมทานป่าไม้ให้นายทุนใด คุณลุงชี้ชวนให้เราดูต้นโกงกาง คุยกันเรื่องผลประโยชน์และการรักษาดูแลของชาวบ้าน พาลไปถึงสัตว์น้ำจำพวกหอย ซึ่งมีมากนับร้อยชนิด เก็บขายกันที่เป็นกระสอบ ว่าแล้วก็จอดเรือลงไปหาหอยโลกัน ซึ่งเป็นหอยประจำถิ่นมาอวดเรา

 

 

ปิดท้ายทริปด้วยอาหารพื้นถิ่นบานา ของกินขึ้นชื่อ ได้แก่ ปลากระบอก กุ้งทะเล หอย และปู ฉะนั้นเมนูของเราวันนี้จึงเกี่ยวข้องกับวัตถุพวกนี้ซะส่วนใหญ่ มีปลากระบอกทอด หอยกระจกผัดขมิ้น ยำผักเบี้ย แกงแดงปลาดุกทะเล แกงเหลือกะทิปลากระบอก ฯลฯ แต่ละอย่างน่ากิน แลดูอร่อยทั้งนั้น พวกเรายึดพื้นที่ในศาลาบริเวณสะพานไม้มานาเป็นสถานที่พำนักลงมือหม่ำอาหารฝีมือแม่บ้านในชุมชน แต่ละจานอร่อยมาก เติมข้าวแล้วข้าวอีกจนอิ่มเปล้นั่นแหละถึงเอ่ยพอ

 

ชุมชนบ้านบานาไม่ใช่ชุมชนแรกในปัตตานีที่ผู้เขียนไปเยือน แต่เป็นชุมชนที่คำนึงถึงทุกครั้งที่กล่าวถึงปัตตานี ผืนป่าโกงกางกว้างใหญ่ ถักทอเรียงร้อย โอบอุ้มหล่อเลี้ยงชีวิตปากท้องของชุมชน และพวกเขาก็ตอบแทนด้วยการดูแลรักษา อยู่แบบเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ ท่ามกลางพื้นที่สีแดงที่เราต่างนึกถึง ปัตตานีที่เราสัมผัสชวนให้ลืมเรื่องราวเล่านั้นจนหมดสิ้น หลงเหลือไว้แต่แต่ความน่ารัก น่าประทับใจ

 

More Info

  • ติดต่อท่องเที่ยวชุมชนได้ที่ นายอนัน อาบูลี ประธานชุมชนท่องเที่ยวบ้านบานา โทร. 085-725-9613 หรือ Facebook: สะพานไม้ บ้านบานา