โปรดมาเที่ยวที่บ้านของฉันรอบนี้ พาลงใต้เที่ยวเมืองรอง จังหวัด พังงา นอกจากความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลากหลายรูปแบบแล้ว ที่ ‘พังงา’ ยังมีรีสอร์ทที่อุดมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติซ่อนอยู่ 7 Greens ชวนทุกคนมาสำรวจที่พักสีเขียว ‘เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท’ บนที่ดินซึ่งเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ทางธรรมชาติ โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่ยืนต้นให้ร่มเงา มีสัตว์ป่าหายากที่บ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติอย่าง นางอาย อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาตั้งแต่เริ่มบุกเบิกพื้นที่ในรุ่นอากง ส่งต่อการดูแลสู่ผู้บริหารรุ่นปัจจุบัน กับความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังสามารถนำพาธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ผ่านการสร้าง ‘ความยั่งยืน’ ให้เกิดขึ้นในทุกมิติ

ความยั่งยืนที่ว่านั้นจะมีแง่มุมใดบ้าง ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ของ ‘คุณแชมป์ ชานน วงศ์สัตยนนท์’ ผู้อำนวยการเครือโรงแรมเมอร์ลิน ถึงที่มาในการพัฒนารีสอร์ทริมทะเลทั่วไป ให้กลายเป็นรีสอร์ทรักษ์โลก ที่ไม่ใช่แค่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมธรรมดา แต่ยังมีการดูแล รักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเป็นอย่างดี จนมีน้อง ๆ สัตว์หลากหลายชนิดมาร่วมอาศัย เรียกได้ว่าเป็นโรงแรมสีเขียว แบบฉบับ Green Service ที่แท้จริง

ก่อนที่จะเข้ามารับช่วงบริหารกิจการของที่นี่ คุณแชมป์มีทำงานประจำด้านที่เกี่ยวข้องหรือด้านอื่นมาก่อนหรือไม่?

คุณแชมป์: ก่อนหน้านี้ ผมทำงานด้านสื่อครับ เป็นนักข่าวมาก่อนประมาณ 2 ปี เคยร่วมงานกับทางคุณสิทธิชัย หยุ่น โฟกัสที่สื่อออนไลน์ โดยมีโจทย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบเนื้อหาสำหรับ Traditional Media ให้เป็นออนไลน์ แล้วหลังจากนั้น ผมได้ไปทำหน้าที่ Producer ดูแล VDO Content ให้กับนิตยสาร BK Magazine ดูแลเรื่องเขียนสคริปต์ ออกกองถ่าย ซึ่งเน้นสื่อสารทางออนไลน์เช่นกันครับ เริ่มทำงานด้านนี้ด้วยความชอบส่วนตัวเลยครับ แม้จะไม่ได้จบตรงสาย แต่ผมชอบการสื่อสาร ชอบการเขียนเล่าเรื่อง และงานสื่อมวลชนยังเป็นงานที่สามารถช่วยขับเคลื่อนสังคมหรือ Social Good ทำให้คนดูได้ประโยชน์จากคอนเทนต์ที่เรานำเสนอครับ

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เข้ามารับช่วงบริหารกิจการของครอบครัว?

คุณแชมป์: ผมกลับมาช่วยต่อเติมในส่วนที่ทำได้ครับ งานด้านการทำคอนเทนต์และการตลาด เป็นสิ่งที่เราคลุกคลีมาก่อนอยู่แล้ว และสามารถมาเติมเต็มในส่วนที่ขาด ต่อยอดได้ในมุมการโปรโมตโรงแรม มาบริหารที่นี่ก็ยังได้ทำคอนเทนต์นะครับ อย่าง VDO โปรโมตโรงแรม ผมมีส่วนร่วมในการช่วยกำกับและตากล้องที่มาถ่ายทำก็เคยเป็นเพื่อนร่วมงานกันมาก่อนครับ

ความท้าทาย และอุปสรรคในการมารับช่วงต่อและพัฒนา เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท?


คุณแชมป์: ก่อนอื่นขอเล่าถึงประวัติของโรงแรมสั้น ๆ นะครับ โรงแรมนี้ มีผู้บริหารเจน 1 กับ 2 เป็นคนสร้างขึ้นมา โดยอากงของผมชื่อว่า วีระ จิรายุส กับน้า ๆ ได้มาดูพื้นที่ แล้วพัฒนาสร้างโรงแรมเสร็จในปี 2546 ตอนเริ่มต้นมีการทำระบบบำบัดน้ำเสีย ดูแลพื้นที่ป่า วางผังไม้สูงด้วยการเว้นระยะห่างระหว่างต้นไม้แต่ละต้น เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้าน Sustainability มีครบถ้วนอยู่แล้วตั้งแต่ต้นครับ พอมาถึงเจน 3 ในรุ่นของผม เข้ามาทำงานได้ประมาณ 3-4 ปี เจอวิกฤตแรก คือ สถานการณ์โควิด-19 ตอนที่ผมเริ่มทำงานช่วงแรก ทางเครือโรงแรมเมอร์ลิน ยังไม่ได้เน้นด้านการตลาดมากนัก สิ่งที่เรามีอยู่ไม่ได้ถูกดึงมาเป็นจุดขายหรือสื่อสารให้คนรับรู้ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม Returning ที่ประทับใจแล้วกลับมาพักอีก มีแนะนำกันปากต่อปาก ไม่ได้มีการทำโฆษณาโปรโมตอย่างจริงจัง

ผมจึงรับผิดชอบดูแลเรื่องการตลาดและการขายออนไลน์ เพื่อให้คนรู้จักโรงแรมมากขึ้น ดังนั้น ความท้าทาย คือ แต่ก่อนเราไม่ได้เน้นเรื่องการตลาดออนไลน์กับลูกค้า B2C ทำให้ต้องวางโครงสร้างใหม่ค่อนข้างเยอะ เป็นเหตุผลหลักที่ผมเลือกทำงานร่วมกับ Love Wildlife Foundation (มูลนิธิรักสัตว์ป่า) และ Big Trees Project เนื่องจากทางมูลนิธิสามารถช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับธรรมชาติให้เราได้โดยตรง เพราะเราเป็นผู้ประกอบการโรงแรมทั่วไป ทำให้ไม่มีความรู้เฉพาะทางว่านางอาย มีพฤติกรรมอย่างไร ต้องดูแลอย่างไร มีสัตว์กี่ชนิด มีต้นไม้กี่ต้น กี่สายพันธุ์ในโรงแรม สามารถกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไหร่ ทำให้มองทางมูลนิธิเป็นเหมือน Advisor และ Business Partner ของเรา เพื่อให้มีข้อมูลมาใช้ในการทำคอนเทนต์เชิงการตลาดครับ

ผลตอบรับจากการเข้าไปนำเสนอความร่วมมือกับ Partner ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร มีอุปสรรคตรงส่วนใดหรือไม่?

คุณแชมป์: ผมเริ่มติดต่อทางมูลนิธิ Love Wildlife ไปก่อนครับ ว่าเรามีนางอายอยู่ในโรงแรม เพราะถ้าสังเกตดี ๆ โรงแรมเรามีรูปนางอายอยู่ในโลโก้ด้วยครับ ตอนติดต่อไปช่วงแรกทางมูลนิธิอาจจะรู้สึกไม่เชื่อใจ หรือมีตั้งข้อสงสัยอยู่บ้าง จึงขอเข้ามาทำ Wildlife Survey โดยรวมก่อน ซึ่งไม่ได้เจาะจงมาดูนางอายโดยเฉพาะ ได้มาสำรวจจำนวนต้นไม้ในโรงแรมที่มีถึง 276 ต้น และพบว่าโรงแรมเรามีนางอายจริง ๆ


หลังจากนั้น ทางมูลนิธิก็ได้เริ่มให้คำแนะนำเกี่ยวกับนางอายมากขึ้น เช่น การผูกเชือกเชื่อมระหว่างต้นไม้เป็นทางเดินให้นางอายเดินสะดวกมากขึ้นครับ เรา Partner ทำงานร่วมกันมาประมาณ 2-3 ปี ทำให้ทางมูลนิธิเห็นถึงความตั้งใจของเราที่อยากจะอนุรักษ์นางอาย จุดนี้ยังทำให้สามารถต่อยอดข้อมูลให้ลูกค้ามากขึ้น เดิมทีผมไม่ได้กำหนดว่าจะต้องร่วมงานกับหน่วยงานที่เป็นมูลนิธิเท่านั้น หลัก ๆ มองว่าใครมีความรู้และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงแรมมีพื้นที่สีเขียวเยอะ ลูกค้ารักโรงแรมของเรามาก เพราะมีต้นไม้และธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ซึ่งทางมูลนิธิมีความเชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าและธรรมชาติพอดีครับ

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีการปรับตัวเพื่อฝ่าวิกฤตอย่างไร?
คุณแชมป์: เราพยายามเน้นตลาดคนไทยมากขึ้น จากส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติโซนยุโรปประมาณ 95% ช่วงโควิดใหม่ ๆ ชาวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไม่ได้ บางวันตัวเลขลูกค้าเป็น 0 เลยก็มีครับ จึงหาจุดขายที่เป็น Unique Selling Point ในมุมคนไทย เพราะรู้ดีว่าไม่ได้มีมุมถ่ายรูปหรือมุมเช็กอินหลากหลายเหมือนโรงแรมอื่น


เราเลยยึดในสิ่งที่เป็นจุดเด่นของเรา ไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตน โดยพยายามสื่อสารเข้าถึงลูกค้าเฉพาะกลุ่ม เน้นคนที่รักต้นไม้ อยากอาบป่าแต่ก็ยังได้พักในที่ที่สะดวกสบาย ห้องพักมีแอร์ เปิดระเบียงออกมาแล้วได้อาบป่าเลย ผมเชื่อว่าในคนไทยมีกลุ่มที่ไม่อยากไป Camping ไม่อยากนอนมุ้ง แต่อยากอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หนีความวุ่นวายในเมืองกรุง ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาห้องก็ถูกจองเต็มหมดครับ

ส่วนเปอร์เซ็นต์ลูกค้าคนไทย ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาครับ อยู่ที่ประมาณ 20-30% แต่ในช่วงสงกรานต์จะพุ่งสูงไปถึง 80-90% นอกจากนี้ โรงแรมเราได้ลงบทความในเว็บของ The Cloud และมีกิจกรรมนักเขียนผู้พำนัก ที่เชิญชวนให้ผู้อ่านมาพักที่โรงแรมฟรีโดยมีเงื่อนไขว่าต้องเขียนรีวิวกลับไปให้ The Cloud มีคนสมัครมา 140 คน ผมอ่านใบสมัครและบทความของแต่ละคนแล้วดูรักธรรมชาติมาก รู้สึกชื่นใจมากครับ

ตั้งเป้าหมายอย่างไรในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของโรงแรมหลังจากนี้?

คุณแชมป์: เรื่องของความยั่งยืน ทางโรงแรมเราทำได้ค่อนข้างดีมาก จากสถิติข้อมูลต่าง ๆ ที่ดีมาก สิ่งที่อยากจะต่อยอดคงเป็นเรื่องกิจกรรมแนวให้ความรู้ และกิจกรรมที่ส่งเสริมด้าน Sustainability จริงๆ เพราะตอนนี้ถ้าเราทำโรงแรมเป็นที่พักอย่างเดียว อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ลูกค้ายุคใหม่ต้องการ เราจะต้องมีกิจกรรมอื่นเสริมเข้ามา เช่น ทำผ้ามัดย้อม เดินส่องนางอาย ซึ่งตอนนี้เราก็มีกิจกรรมนี้อยู่แต่ผมเชื่อว่าสามารถต่อยอดได้ โดยให้ความรู้พนักงานเพิ่ม มีทำเป็นชีทข้อมูล หรือการดูนกอาจจะตั้งเป็น Telescope ในจุดไหนที่ดูได้ ผมอยากต่อยอดด้านกิจกรรม ทำให้เป็น Eco Resort มากขึ้น ให้ตัวตนชัดเจนขึ้น เพิ่มเติมการตกแต่ง Branding ไปในทิศทางเดียวกัน นี่คือจุดที่เราจะไปต่อครับ จากเดิมที่เราเน้นรักษาต้นไม้ ตอนสร้างโรงแรมไม่มีการโค่นต้นไม้ใหญ่เลยครับ

พูดถึงกิจกรรมส่องนางอายในกลุ่มลูกค้าที่มาพัก หลายคนอาจสงสัยว่าจะเป็นการรบกวนของการใช้ชีวิตนางอายหรือไม่?


คุณแชมป์: เป็นเหตุผลที่เราใช้ข้อมูลของมูลนิธิเข้ามาช่วยให้เป็นประโยชน์ ทำให้เรารู้ว่าควรจะจัดกิจกรรมในรูปแบบไหนที่ดีที่สุดและจะไม่เป็นการรบกวนนางอาย เพราะถ้าไม่มีความรู้เลยคงติดตั้งสปอต์ไลท์สว่าง ๆ จ้า ๆ จะได้เห็นนางอายชัด ๆ ซึ่งทางมูลนิธิแนะนำให้ใช้แสงไฟสีแดง จะไม่เป็นการรบกวนสายตานางอาย น้องจะเห็นแสงแต่ไม่รู้สึกแสบตา ด้วยความที่นางอายเป็นสัตว์หากินกลางคืน ตาเขาจะ Sensitive มาก เราจึงไม่ควรส่องไฟสว่างขึ้นต้นไม้และห้ามส่องจ่อค้างไว้เป็นเวลานาน เรามีการอบรมให้ความรู้พนักงานในเรื่องนี้ด้วยครับ

ต้องทำให้มั่นใจว่าทุก ๆ กิจกรรมจะไม่รบกวนสัตว์ภายในโรงแรม และขอคำปรึกษาจากทางมูลนิธิอยู่ตลอดครับ เป็นข้อกังวลของเราเช่นกันว่า ถ้าจัดกิจกรรมส่องนางอายโดยไม่คำนึงถึงความ Sustainable อีกไม่นานนางอายก็จะไม่อยู่เรา ความยั่งยืนที่เรารักษาไว้จะหายไป  หากในอนาคตมีการโปรโมตกิจกรรม ก็จัดจะเป็นรอบ จำกัด 8-10 คน และแยกคนละโซนกัน แม้กระทั่งที่ผ่านมา ลูกค้าส่วนใหญ่เวลามาส่องนางอายแล้วไม่เจอก็จะเข้าใจ ไม่มีปัญหาตรงจุดนี้ ใครอยากได้คอนเทนต์ ทางโรงแรมจะให้รูปไปแทนครับ

ทำไมธุรกิจโรงแรมควรหันมาใส่ใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม?

คุณแชมป์: ในมุมมองของทางครอบครัวคิดว่า สิ่งแวดล้อมกับธุรกิจ ไม่ควรเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งสองอย่างเติบโตไปพร้อมกัน และช่วยเกื้อหนุนกันได้ ไม่ใช่แค่แสวงหาผลกำไรแล้วเราจะไม่ดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น จากการที่เรารักษาต้นไม้ดูแลธรรมชาติ ก็กลายเป็นจุดขายให้กับโรงแรม ที่ไม่มีใครเหมือน พิสูจน์ได้จากลูกค้าที่ยังกลับมาและรักธรรมชาติที่นี่หลังจากเปิดโรงแรมนี้มาหลายปี การดูแลธรรมชาติกลับกลายเป็นการสร้างผลกำไรให้แก่ธุรกิจ จับมือไปด้วยกันกับสิ่งแวดล้อม


สำหรับมุมมองผู้ประกอบการ มีจุดที่ค่อนข้าง  Sensitive ในการเลือกที่ตั้ง สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ เช่น ที่พักต้องติดหาด มีการสร้างจุดขายจากธรรมชาติ แน่นอนว่า หากไม่มีการตระหนักเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในที่สุดสิ่งแวดล้อมก็จะถูกทำลาย การบัดน้ำเสียควรคำนึงว่าจะทำได้เพียงพอกับจำนวนคนมากมายที่มาใช้บริการหรือไม่ หรือแม้กระทั่งการจัดการ Waste จากอาหาร โดยปกติธุรกิจโรงแรมสร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว คอนโดยังไม่มีการซักผ้าเยอะต่อวันเท่ากับโรงแรม เมื่อธุรกิจเรามี High Impact ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ต้องลด Impact ให้น้อยที่สุด เพื่อให้ธรรมชาติยังคงอยู่ต่อไปและเกิดความยั่งยืนไปอีกหลายสิบปีครับ


สุดท้าย อยากให้ฝากเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวพังงา และ เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท

คุณแชมป์: ถ้าพูดถึงคนที่รักธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะขึ้นไปเที่ยวทางเหนือ แต่ทางใต้จะมีธรรมชาติอีกรูปแบบ ที่มีทั้งทะเลและป่าดิบชื้น มีความสดชื่นที่ไม่เหมือนป่าทางเหนือ อยากให้ทุกคนลองมาเที่ยวชมธรรมชาติของทางภาคใต้ดูครับ ซึ่ง Motto ภาษาอังกฤษของ เขาหลัก เมอร์ลิน รีสอร์ท ก็คือ ‘Where the Rain Forest Meets the Sea’ อยากสัมผัสบรรยากาศที่มีทั้งป่า ภูเขา ทะเล น้ำตก ที่นี่มีครบทุกอย่าง ไม่ต้องเลือกว่าทะเลหรือป่า คนที่ชอบทั้งสองสายอยากชวนให้มาเที่ยวที่นี่ครับ ทางโรงแรมเราก็เพิ่งได้ลองโปรโมตกับคนไทย มีโปรโมตออกสื่อไปแต่ยังไงก็ไม่เท่ากับมาสัมผัสด้วยตัวเอง มานั่งที่ระเบียงก็จะได้เห็นกระรอกหรือนกหลายสายพันธุ์บินผ่าน เป็นโมเมนต์ที่ทำให้มีโอกาสได้นิ่งสงบแล้วสัมผัสกับธรรมชาติครับ


และนี่คือเรื่องราวของผู้ประกอบการรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว กับจุดมุ่งหมายเดียวที่สำคัญคือ การอนุรักษ์ธรรมชาติให้คงอยู่ไปแสนนาน 7 Greens รู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้มีโอกาสได้พบกับผู้ประกอบการที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อมแบบนี้ และหวังว่านักท่องเที่ยว Green Heart ทุก ๆ ท่านจะให้ความร่วมมือ #เที่ยวใส่ใจ เมืองไทย ไปด้วยกัน

โรงแรม Khaolak Merlin Resort

Google map:  https://goo.gl/maps/fMC6yiboomRwFGCb8 

รายละเอียดเพิ่มเติม: http://www.merlinkhaolak.com/  

โทร: 076-428-300