#เที่ยวเมืองรอง แต่ความงดงามไม่เป็นรองใคร ต้องไปเยือนอุทัยธานี ความสงบของเมือง ความเรียบง่ายและวิถีชีวิตของชาวบ้าน ที่หลอมรวมกันสร้างเป็นมนต์เสน่ห์ของจังหวัด ชวนปรับเวลาเร่งรีบในชีวิตลงแล้วไปสูดกลิ่นวัฒนธรรมและธรรมชาติใกล้กรุงฯ

สกู๊ปพิเศษครั้งนี้ไม่เพียงแค่แนะนำจังหวัด #อุทัยธานี แต่จะพาทุกคนไปร่วมพูดคุยถึงโมเดลธุรกิจสีเขียว กับ ‘คุณหมอกฤตพล พรพิบูลย์’ ทันตแพทย์ผู้เป็นเจ้าของโรงแรม Uthai Heritage ที่ชูคอนเซปต์ ‘Reuse’ ดำเนินธุรกิจแบบ Green Service และผลักดันความร่วมมือกับชุมชนในการให้บริการ สะท้อนเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของเมืองอุทัยฯ ที่ไม่เหมือนใคร เพื่อเป็นไอเดียใหม่ ๆ ให้กับผู้ที่คิดจะเริ่มทำธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม มุ่งพัฒนาบ้านเกิดไปพร้อมกัน

อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘คุณหมอกฤตพล พรพิบูลย์’ เลือกที่จะดำเนินธุรกิจแบบ Sustainable Business ควบคู่ไปกับการเป็น Community Base Hotel?

คุณหมอกฤตพล: เริ่มมาจาก ‘ที่ดิน’ ซึ่งเป็นที่ดินส่งต่อของครอบครัว แต่ที่ดินนี้เป็นโรงเรียนเก่า เรามีความคิดว่าอยากพัฒนาโดยการอนุรักษ์ ไม่รื้ออาคารทิ้ง จึงคิดต่อยอดว่ามีอะไรตอบโจทย์บ้าง การที่ได้เข้าอบรม หลักสูตร การเปลี่ยนบ้านเก่าเป็น Boutique Hotel ของ อ.วรพันธ์ คล้ามไพบูลย์ ซึ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าอาคารเก่า และอาคารนั้น ไม่จำเป็นต้องอยู่ในทำเลที่ดี แต่ต้องสามารถดึงจุดเด่น หรือเรื่องราวมานำเสนอได้ รวมทั้ง Boutique Hotel ขนาดเล็กควรมีส่วนร่วมกับชุมชน ในแนวคิด Community Base Hotel ซึ่งจะเป็นจุดขายควบคู่ไปกับการทำให้ธุรกิจยั่งยืนได้ ประกอบกับที่เราเป็นคนพื้นถิ่นอยู่แล้ว และเคยร่วมงานกับหอการค้า สมาคมการท่องเที่ยวมาก่อน เราเลยจุดประกายไอเดียจากตรงนี้ นอกจาก ทำธุรกิจของตัวเองแล้วเรายังส่งเสริมการท่องเที่ยวของอุทัยฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้วย เพราะว่าอยากกระจายรายได้ไปสู่ชุุมชน

พูดถึงเรื่องการกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชนโดยรอบ ทางโรงแรม Uthai Heritage มีกิจกรรมอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและได้เริ่มดำเนินการมาแล้วบ้าง?

คุณหมอกฤตพล: เริ่มตั้งแต่ตอนที่เราสร้างเลยครับ เรามีการเลือกพนักงานโดยคัดเลือกเป็นคนอุทัยฯ ทั้งหมด ซึ่งในช่วงโควิด เราโชคดีที่ได้คนอุทัยฯ ที่กลับจากกรุงเทพฯ มาร่วมงานด้วย ก็จะมีกลุ่มคนที่จบปริญญาตรี แล้วทำงานโรงแรมมาก่อน แต่ว่าออกจากงานกลับมาบ้านเกิด เราก็เลือกรับเขาที่เป็นคนอุทัยฯ มาร่วมงานกันครับ โดยที่คอนเซปต์ของเรา คือ เลือกคนที่เป็นคนอุทัยฯ เราก็เลยได้คนที่เป็นคนในชุมชนกลับมา

ในส่วนการท่องเที่ยว ข้อแรก เรามาดูจากจุดแข็งของเรา จุดขายของอุทัยฯ คือ ตลาด, ตลาดเช้า คิดว่าอยากเปิดโอกาสให้คนที่มาพักได้ไปสัมผัสการเดินตลาดของอุทัยฯ และอุดหนุนสินค้าของชาวบ้าน เราเลยจัดรถตุ๊ก ๆ ของชุมชน จ้างรถตุ๊ก ๆ ที่เป็นรถของท้องถิ่นมา แล้วบริการให้แขกฟรี เราจะใช้การสื่อสารบอกลูกค้าว่า มาลองนั่งรถตุ๊ก ๆ ในเมืองดีกว่า ไม่ต้องไปหาที่จอดรถด้วย บริการฟรีทั้งไปและกลับ อันนี้เป็นจุดที่ลูกค้ารู้สึกว่าโอเค ได้ไปเดินตลาดแบบสบาย ๆ สุดท้ายลูกค้าของเราทุกคนก็จะได้ไปจับจ่ายซื้อของกระจายรายได้ที่ตลาด

กิจกรรมที่สองคือ การล่องเรือ แม้ว่าโรงแรมเราไม่ได้อยู่ใกล้แม่น้ำ แต่เรามีการประชาสัมพันธ์ แจ้งลูกค้าว่า ทางโรงแรมมีบริการเรือท้องถิ่น เป็นทางเลือกเสริม แต่การล่องเรือนี้จะเป็นการไปจ่ายเงินให้กับชุมชนโดยตรง อะไรที่สามารถกระจายรายได้ให้กับชุมชนได้เราก็จะแนะนำให้กับลูกค้าของเรา

ส่วนสุดท้ายเป็นกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติ เกิดจากเรามีคนที่รู้จักที่มีสวนเกษตร แล้วเขาสังเกตว่าที่สวนมีหิ่งห้อย เราก็เลยคิดให้เกิดเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ตอนกลางคืนเราพาแขกไปดูหิ่งห้อย เรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ จะเป็นแนวธรรมชาติ ๆ ซึ่งเราพยายามนำเสนอว่าในเมืองของเรา มีวิถีชีวิตที่สงบนะ เมืองไม่พลุกพล่าน ไปเดินตลาด ไปนั่งล่องเรือ แล้วก็มีหิ่งห้อยเป็นตัวแถม ตอนนี้เราก็มีบริการอยู่ 3 กิจกรรมนี้ครับ

ทั้ง 3 กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมที่รวมเข้าไปในแพ็กเกจของโรงแรมในตอนนี้เลยใช่หรือไม่?

คุณหมอกฤตพล: มีเป็นกิจกรรมล่องเรือกับหิ่งห้อย ที่เราเปิดให้ลูกค้าได้เลือกครับ แต่สิ่งที่รวมเข้าไปในแพ็คเกจห้องพัก คือเรื่องของอาหาร เราพยายามดูว่า Local Food อะไรที่มีชื่อเสียงในอุทัยฯ เช่น ข้าวมันไก่โก๋ตี๋ มีก๋วยจั๊บที่อร่อย ก็จะจัดชุดเมนูให้มี Local Food มาประกอบด้วย ที่โรงแรมเราทำเป็นลิสต์แล้วให้แขกเลือกครับ

‘คุณหมอกฤตพล’ พยายามจะดึงจุดเด่นของอุทัยฯ ออกมา แล้วร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเอามาผสานกับบริการของโรงแรมใช่หรือไม่?

คุณหมอกฤตพล: ผมคิดว่ามันต้องไปด้วยกัน เราไม่สามารถทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว อย่างอาหารเราทำไม่ได้ทั้งหมด เราต้องไปจ้างเชฟ เราไม่ได้ชำนาญขนมไทยหรืออาหารหลาย ๆ อย่าง หรือแม้กระทั่งแขกที่มาพักตอนเย็น  เนื่องจากเราไม่ได้เป็นจังหวัดใหญ่ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแขกทุกเย็น เราจึงขายอาหารโดยเชฟของเราเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และวันหยุดที่มีแขกมาก ส่วนในวันอื่น ๆ เราแนะนำร้านอาหารในท้องถิ่นอีก 2 ร้าน ให้ลูกค้าเลือกสั่งอาหาร ถ้าลูกค้าไม่อยากทานอาหารข้างนอก สามารถสั่งอาหารจาก 2 ร้านนี้มาได้ อย่างนี้ก็เหมือนกับเราใช้จุดแข็งในชุมชนมาประกอบกัน ลูกค้าอยากมาพักที่โรงแรมเรา แต่เราไม่สามารถทำอาหารได้ทุกวัน ก็มีร้านอาหาร Local Food มาเสริมในตรงนี้

ทราบมาว่าโรงแรม Uthai Heritage มีการชูคอนเซปต์ ‘Reuse’ อยากทราบว่ามีส่วนใดบ้าง ที่โรงแรมใช้การ Reuse เพื่อใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพสูงสุด?

คุณหมอกฤตพล: ถ้าพูดถึงการ Reuse ของเรา อย่างแรกเลยก็คือ เราใช้อาคารทั้งอาคาร เพราะอาคารนี้เป็นอาคารเก่า แต่เราไม่ได้ทุบทิ้ง คุณค่าของการ Reuse ส่วนแรก คือรีโนเวทอาคารของเรา และได้ Story มาด้วย นั่นเป็นภาพใหญ่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพรองลงมา เริ่มจากเรื่องของแนวคิด การออกแบบที่ประหยัดพลังงาน เรื่องแรกคือการใช้ไฟฟ้า อาคารนี้เป็นอาคารที่ประหยัดในการใช้เครื่องปรับอากาศ แม้เราจะวาง Positioning ของเราเป็นราคาที่พรีเมี่ยมในจังหวัด แต่ว่าก็ยังอิงกับธรรมชาติ มีการออกแบบที่มีทิศทางลมที่ดี ห้องทุกห้องของเราจะมีลมผ่าน ห้องสาธารณะ ห้องอาหาร ห้องเรียน โดยเรามีห้องล็อบบี้หรือที่เราเรียกว่าห้องสมุด จะมีการเปิดแอร์อยู่ห้องเดียว ฟร้อนท์ของเราก็จะเปิดโล่ง 

ส่วนเรื่องน้ำ ตั้งแต่ตอนแรกผมศึกษาเรื่องของธนาคารน้ำ เดิมทีที่หน้าโรงเรียนมีน้ำท่วมบ่อย น้ำระบายไม่ทัน ก็เลยคิดว่าถ้าเราสร้างอาคาร มันควรจะมีทางที่น้ำสามารถไหลลงดินได้ไม่ใช่ว่าเทปูนทั้งหมด ก็เลยทำธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วเว้นช่องระหว่างกำแพงให้น้ำสามารถซึมลงใต้ดินได้ แล้วช่องนี้ก็ได้ใช้ประโยชน์ในการจัดการเศษใบไม้ เวลาเราตัดหญ้าจะเอาเศษใบไม้มาอยู่ในช่องนี้ กลายเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ

สำหรับน้ำที่ใช้ภายในโรงแรม ด้วยคอนเซปต์ดัดแปลงจากอาคารเก่า เพราะฉะนั้นต้นทุนเราจะถูกกว่าสร้างอาคารขึ้นมาใหม่ จึงเอาต้นทุนในส่วนนี้ไปซื้อถังเติมอากาศ ระบบน้ำทั้งหมดที่ผมคุยกับทางทีมงาน คือเราใช้ระบบของน้ำมากกว่า 90% ที่เราออกแบบได้ จะไหลไปทางด้านหลังของโรงเรียน ไปเติมอากาศแล้วค่อยปล่อยทิ้ง ก่อนปล่อยทิ้งก็จะมีบ่อกักเก็บเอาไว้ ในช่วงที่ฝนไม่ตกเราสามารถใช้น้ำตรงนี้ที่ผ่านการเติมอากาศแล้ว 24 ชม. จะไม่มีกลิ่น สามารถเอามารดน้ำต้นไม้ได้ เป็นการ Reuse 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนขยะใบไม้ เราทิ้งในจุดที่กองขยะ หนึ่งคือร่องที่เราออกแบบไว้รับน้ำ สองคือตามพวกต้นไม้ก็เป็นที่กองเศษใบไม้ ไม่ได้ไปทิ้งข้างนอก นอกจากนี้ เศษอาหาร จะมีชาวบ้านมารับไปเป็นอาหารปลา รวมถึงพวกขวดพลาสติก หรือผลิตภัณฑ์พลาสติกเราพยายามลดการใช้งานให้มากที่สุด เช่น เครื่องใช้ในห้องพัก เราใช้เป็นแบบ Refill ซองใส่ช้อนตักอาหารตอนแรกเราใช้เป็นพลาสติก แล้วเราก็ออกแบบใหม่เป็นผ้า พวกขยะพลาสติกก็จะแยกตามขั้นตอน ทุกตำแหน่งของถังขยะ เรามีถังใส่ขวดพลาสติกถังนึง แล้วก็มีถังขยะธรรมดาอีกถัง แยกแล้วแม่บ้านก็เอาไปขายเป็นรายได้เสริมในส่วนของแม่บ้านไป พยายามลดในสิ่งที่เราสามารถทำได้

หลังจากที่ ‘คุณหมอกฤตพล’ ดำเนินธุรกิจด้วยโมเดลธุรกิจสีเขียว ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง และคุณหมอได้มองอนาคตของโรงแรม อนาคตของชุมชนในจังหวัดอุทัยธานีไว้อย่างไรบ้าง?

คุณหมอกฤตพล: จริง ๆ แล้วผมว่าแนวคิดนี้มันเกี่ยวเนื่องทั้งในฝั่งของธุรกิจ ชุมชน ทุกส่วนเลยครับ ในฐานะที่เราเป็นภาคครัวเรือน เรามีส่วนร่วมอยู่แล้ว พอมาเป็นธุรกิจเรายิ่งต้องทำให้มันเข้มข้นขึ้น แขกที่มาพักก็ให้ความร่วมมือเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ดูจากถังขยะที่เราตั้งไว้ เรามีถังที่เป็นรูสำหรับเก็บขวด เขาก็ใส่ตรงประเภท ให้ความร่วมมือกับเราพอสมควรเลยครับ ส่วนอนาคตแนวโน้มที่ยั่งยืน คือ การรักษาสิ่งแวดล้อมที่ทุกคนควรทำ

ช่วงโควิดที่ผ่านมา ‘คุณหมอกฤตพล’ เล่าให้ฟังว่ามีคนกลับบ้านเกิดแล้วมาสมัครทำงานที่โรงแรม แสดงว่าแนวโน้มที่คนอุทัยฯ กลับมาทำงานที่บ้านเกิดมีเพิ่มมากขึ้นใช่ไหม?

คุณหมอกฤตพล: มีเป็น 2 กลุ่มครับ กลุ่มหนึ่ง คือ คนที่มีช่องทางที่เขาสามารถต่อยอด ทำงานหรือธุรกิจได้ เขาก็กลับมา ส่วนของเราที่คิดว่ามีส่วนช่วยได้ คือ ธุรกิจเราเป็นธุรกิจที่สามารถรับคนทำงานได้เยอะ เราจ้างงานคนที่มีคุณภาพในราคาค่าแรงที่เหมาะสม ก็ได้คนที่เขายังไม่ได้มีธุรกิจส่วนตัวใด ๆ มาร่วมงาน 

ซึ่งปกติแล้วอุทัยฯ เป็นเมืองเล็ก ๆ การที่เรามีธุรกิจที่เป็นมาตรฐาน เราสร้างงานได้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนกลับมาอยู่อุทัยฯ ได้ คนที่กลับมา เขารู้ว่าค่าครองชีพของอุทัยฯ กับเมืองใหญ่มันต่างกัน แม้รายได้ของที่นี่จะไม่สูงมากเท่าเมืองใหญ่แต่เขาอยู่ที่บ้าน มีค่าครองชีพน้อยกว่า เขาจะมีเหลือเก็บมากกว่าและจ่ายน้อยกว่า เราก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เสนอโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาบ้าน กลับมาอยู่ที่อุทัยฯ

‘คุณหมอกฤตพล’ เกิดและเติบโตที่อุทัยฯ เลยใช่หรือไม่? และอะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิด?

คุณหมอกฤตพล: ใช่ครับ ผมเกิดที่อุทัยฯ แต่เรียนที่กรุงเทพฯ ตอนประถม กับเรียนที่เชียงใหม่ ตอนมัธยม และมหาวิทยาลัย แล้วกลับมาทำงานอุทัยฯ แต่ส่วนใหญ่ แล้วคนอุทัยฯ จะเรียนที่อุทัยฯ แล้วไปทำงานต่างจังหวัด แต่เนื่องจากในอุทัยฯ ไม่มีสถานที่ทำงานที่รองรับเขา ไม่มีบริษัทใหญ่ ๆ ก็เลยบอกว่าในฐานะที่เราทำงานการโรงแรม ที่ขนาดไม่ถึงกับใหญ่ แต่เราก็สามารถสร้างงานได้ในระดับหนึ่ง คิดว่าตัวนี้ก็เป็นโมเดลที่ทำให้เห็นว่า ถ้าเขาเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์อาคาร หรือบางส่วนที่เขาคิดว่าเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมันขายได้ เขาก็สามารถเอามาพัฒนาแล้วก็มาเกิดเป็นอาชีพ แล้วทำให้คนกลับมาอยู่บ้านได้

โมเดลของอุไทย เฮอริเทจ ทำให้เห็นว่า การพัฒนาอัตลักษณ์ของอาคารเก่า เปลี่ยนเป็น Boutique Hotel แม้จะสร้างในเมืองรอง มีความเป็นไปได้ สามารถสร้างความสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยว และร่วมผลักดันการท่องเที่ยวของจังหวัดได้เป็นอย่างดี ที่พักของเราขายได้ในราคาที่สูงกว่าที่พักในจังหวัดขนาดใหญ่บางแห่ง สามารถสร้างงานได้ แล้วก็คิดว่าน่าจะยั่งยืนครับ 

เรานำเสนอว่าอุทัยฯ เป็นเมืองที่มีความหลากหลายของภาคกลางและภาคเหนือมาเจอกันในจังหวัดเดียว เพราะเราเป็นภาคกลางตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง เรามีเขา เรามีป่า เพราะภาคกลางทั่วไปภูมิประเทศจะไม่มีป่า ตั้งแต่อยุธยาถึงชัยนาท จะเริ่มมีประตูภาคเหนือ คือ นครสวรรค์ แล้วก็มีอุทัยฯ มาปิด เรามีป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกซึ่งอยู่ใกล้กับอุ้มผางกับสังขละฯ เราก็จะนำเสนอจุดนี้ ส่วนวิถีชีวิต เราบอกว่าในรัศมี 300 กิโลเมตรรอบกรุงเทพฯ อุทัยฯ เป็นเมืองสงบที่เหลืออยู่ไม่กี่เมืองที่วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงช้ามาก คนจะรู้สึกว่ามาอุทัยฯ แล้วแปลกตา  ไม่ใช่เมืองเที่ยวแต่เป็นเมืองที่คนมาใช้ชีวิต และอยู่กับธรรมชาติ

อยากให้ ‘คุณหมอกฤตพล’ เชิญชวน ฝากถึงนักท่องเที่ยวที่อยากจะมาเที่ยวเมืองรองอุทัยธานี มาสัมผัสเสน่ห์ที่อุทัยฯ

คุณหมอกฤตพล: ในยุคที่คนมองหาที่เที่ยวสงบ เที่ยวเป็นครอบครัว เที่ยวกับกลุ่มเพื่อนกลุ่มเล็ก ๆ แล้วไม่อยากขับรถไกล ระยะ 300 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ระยะเวลาไม่เกิน 3 ชม. อุทัยฯ เป็นจังหวัดทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจ เพราะว่าการขับรถมาอุทัยฯ เป็นถนนที่ไม่พลุกพล่าน เดินทางได้ง่าย เป็นเมืองสงบ ราคาข้าวของไม่สูง อาหารอร่อย 

อย่างที่พักเก๋ ๆ เองก็ไม่ได้มีแค่ Uthai Heritage ที่เดียว มีหลายที่สามารถเลือกพักได้ มีทั้งที่เป็นแบบเรือนแพ และบ้านที่อยู่บนบก บ้านในทุ่งนา ที่เป็นบ้านพักในเมือง ส่วนที่เที่ยวป่า ก็มีธรรมชาติที่หลากหลาย มีต้นไม้ยักษ์ มีวัฒนธรรมชาวลาว ที่บ้านไร่ มีวัดสวย ๆ รวมถึงป่ามรดกโลก มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้สามารถไปเดินชมได้ แนะนำให้มาเที่ยวสักสามวันสองคืน เพราะว่าแค่วันเดียว คงไม่พอ

‘อุทัยธานี’ เมืองที่ยังอนุรักษ์วิถีชีวิต อนุรักษ์ความเป็นธรรมชาติเอาไว้ การที่ผู้ประกอบการในจังหวัดหันมาทำธุรกิจใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจชุมชนแบบนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืนให้เกิดขึ้น แต่นอกจากการทำธุรกิจสีเขียวแล้ว นักท่องเที่ยวเองต้องช่วยกันอนุรักษ์ #เที่ยวใส่ใจ เพื่อคงความสวยงามของเมืองนี้ไว้ ให้เป็นที่กล่าวขานในอนาคต

โรงแรม Uthai Heritage 

แผนที่: https://goo.gl/maps/2FLcxCnfA1f1tftDA   

รายละเอียดเพิ่มเติม : http://www.uthaiheritage.com/  

โทร : 082-623-9426